คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
1. กำหนดบทนิยาม “คนต่างด้าว” “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” “ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะ” “คณะกรรมการ” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่”
2. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง” ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ ให้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวเพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งพิจารณาอุทธรณ์การยกคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศและนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและวิธีการแก้ไขและป้องกันปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ อาจขอให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น คำแนะนำทางวิชาการ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
4. กำหนดให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และมีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
5. กำหนดให้การคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครองเป็นไปตามที่กำหนด เช่น
5.1 ในระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือตามระเบียบนี้ หากพบคนต่างด้าวที่อ้างตนว่ามีเหตุสมควรจะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้ชะลอการส่งตัวคนต่างด้าวนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
5.2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า คนต่างด้าวรายใดไม่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบนี้ ให้ยกคำร้องขอและแจ้งผลการพิจารณาให้คนต่างด้าวทราบ โดยคนต่างด้าวนั้นอาจอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
6. กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าคนต่างด้าวมีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้แจ้งคนต่างด้าวนั้นเพื่อยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกเอกสารแสดงสถานะเป็นผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะแก่คนต่างด้าวนั้น ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง พนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตให้ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ที่เห็นสมควร โดยให้คำรับรองว่าจะมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบคำสั่งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดระหว่างรอการพิจารณาให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองก็ได้
7. กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักความเป็นเอกภาพของครอบครัว สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอ พันธกรณีระหว่างประเทศ และนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย
8. กำหนดให้เมื่อคนต่างด้าวได้รับสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครอง เช่น
8.1 ไม่ส่งตัวผู้ได้รับการคุ้มครองกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนา เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ได้รับการคุ้มครองนั้นประสงค์จะกลับออกไปนอกราชอาณาจักรด้วยความสมัครใจ หรือมีเหตุที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
8.2 ให้ความช่วยเหลือในการกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาตามความสมัครใจ เมื่อเหตุแห่งการที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้สิ้นสุดลง หรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานเพื่อให้ผู้ได้รับการคุ้มครองสามารถเดินทางไปประเทศที่จะพำนักต่อไปได้
8.3 ดำเนินการตามสมควรเกี่ยวกับการให้การศึกษาแก่ผู้ได้รับการคุ้มครองที่เป็นเด็กและการสาธารณสุข ทั้งนี้ ตามกฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
9. กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครองตามที่คณะกรรมการกำหนด และแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ได้รับการคุ้มครอง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562