1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) สำหรับงานในฝั่ง สปป.ลาว ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนทั้งจำนวนวงเงินรวม 1,380,067,000 บาท
2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 รวมระยะเวลา 5 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 690,033,500 บาท
3. มอบหมาย สพพ. ดำเนินการกู้เงินจำนวน 690,033,500 บาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด
สำหรับกรณีที่ สปป.ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เห็นควรให้ สพพ. พิจารณาใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้ในกรณี สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 [เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน – สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง] ตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) มีแนวทางเริ่มต้นจากตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ผ่านด่านสากลไทย – สปป.ลาว ข้ามไปยังบ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยงานก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีประมาณการค่าใช้จ่าย ดังนี้
ส่วนที่ รายละเอียดงาน ค่างานก่อสร้าง (ล้านบาท)
1 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย 1,766
2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย 787
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว 476
3 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว 780
รวม 3,809
ส่วนที่ รายละเอียดงาน ค่าที่ปรึกษา (ล้านบาท)
1 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย 53
2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย 24
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว 14
3 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว 30
รวม 121
ส่วนที่ รายละเอียดงาน ประมาณราคา (ล้านบาท)
1 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่งไทย 1,819
2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย 811
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว 490
3 ถนน + อาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว 810
รวม 3,930
ทั้งนี้ ประมาณค่าใช้จ่ายแบ่งตามความรับผิดชอบ แบ่งออกเป็น ค่างานฝั่งไทย 2,630 ล้านบาท และค่างานฝั่ง สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มถุนายน 2562) อนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,630 ล้านบาท (ค่างานฝั่งไทย)
2. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ได้มีหนังสือที่ 2876/MOF แจ้งความประสงค์ในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานฯ ในส่วนของขอบเขตงานในฝั่ง สปป.ลาว โดยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ได้มีหนังสือเลขที่ 0434/MOF แจ้งยืนยันการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานฯ (ฝั่ง สปป.ลาว) วงเงินกู้ จำนวน 1,380,067,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี ซึ่งคณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ รูปแบบวิธีการ และแหล่งที่มาของเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้
2.1 เงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
1. เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
1.1 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี
1.2 อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
1.3 ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
1.4 ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา นิติบุคคลสัญชาติไทย
1.5 กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาเงินกู้ กฎหมายไทย
2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
2.1 เป็นรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) ทั้งจำนวน รวมวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1,380,067,000 บาท
2.2 แหล่งเงินที่ใช้ ประกอบด้วย
- เงินงบประมาณ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 690,033,500 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 รวมระยะเวลา 5 ปี
ปีงบประมาณ / การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (บาท)
2564 / 70,000,000
2565 / 200,000,000
2566 / 200,000,000
2567 / 150,000,000
2568 / 70,033,500
รวมทั้งสิ้น 690,033,500
- เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 690,033,500 บาท สพพ. จะกู้เงินมีระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก จะใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 2.62 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะยาวทดแทน โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.67 ต่อปี ซึ่งแนวทางดังกล่าว สพพ. ได้หารือกับ สงป. แล้ว
2.2 วงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือ
รายการ / จำนวนเงิน (บาท)
1. ค่าก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 สัญญา / 1,256,000,000
สัญญาที่ 1 สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว / 476,000,000
สัญญาที่ 2 งานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว / 780,000,000
2. ค่าวิศวกรที่ปรึกษา / 44,000,000
สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว / 14,000,000
งานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว / 30,000,000
3. ค่าบริหารจัดการโครงการของ สปป.ลาว / 15,000,000
4. ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด / 63,000,000
5. ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. / 2,067,000
รวม 1,380,067,000
3. เนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานฯ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความเชื่อมโยงเชิงกายภาพระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดน ซึ่งปัจจุบัน สปป.ลาว มีโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. แล้ว ทั้งหมด 19 โครงการ จำนวนเงินกู้ 11,430 ล้านบาท ชำระคืนให้ สพพ. แล้ว เป็นจำนวนเงิน 971 ล้านบาท และเหลือเงินกู้คงค้าง 10,459 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562) โดยที่ผ่านมา สปป. ลาว ไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้กับ สพพ. อย่างไรก็ดี ให้ สพพ. ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด และรายงานให้ คพพ. ทราบเป็นระยะ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562