การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3

ข่าวการเมือง Tuesday December 24, 2019 17:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ) (โครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ) ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนทั้งจำนวน วงเงินรวม 777,770,000 บาท

2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 388,885,000 บาท

3. มอบหมาย สพพ. ดำเนินการกู้เงินจำนวน 388,885,000 บาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ เห็นควรให้ สพพ. พิจารณาใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้ในกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 [เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ - บ้านโนนสะหวัน – สานะคาม - บ้านวัง - บ้านน้ำสัง] ตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่เมียนมา สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้และการวางแผนพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 (Third Greater Mekong Subregion (GMS) Corridor Town Development Project) ใน 3 เมือง ประกอบด้วย (1) เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ (2) เมืองผะอัน รัฐกะเหรี่ยง และ (3) เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แหล่งเงินลงทุนจำนวนมาก ADB จึงได้ประสานมายัง สพพ. อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอให้พิจารณาในการร่วมมือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบคู่ขนาน (Parallel-financing) สำหรับโครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ ในส่วนของโครงการพัฒนาเมืองอีก 2 เมือง ADB จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับเมียนมา

2. โครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ เป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทางคมนาคมที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนมุ่งลดผลกระทบเชิงสังคมอันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้เป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบและมีความยั่งยืน ซึ่งภารกิจดังกล่าวสอดคล้องกับแผนงานการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)

3. ปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วนของเมืองเมียวดี เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อมของเมืองให้เกิดความยั่งยืน มีดังต่อไปนี้

ปัญหา

การผลิตและการจ่ายน้ำประปาที่ไม่ เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำประปาของประชาชน

  • การไม่มีระบบน้ำประปาสาธารณะและ อ่างเก็บน้ำของรัฐส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนและอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  • การจ่ายน้ำประปาโดยบริษัทเอกชน 2 ราย ที่มีลักษณะทับซ้อนกัน และครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ทางทิศตะวันตก (เขต 4 และเขต 5) ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางทิศตะวันออก (เขต 1 ถึง เขต 3) ไม่ได้รับการจัดสรรน้ำประปาจากบริษัทเอกชนดังกล่าว ประชาชนจึงจำเป็นต้องสูบน้ำบาดาลและนำน้ำจากแม่น้ำเมยมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค

แนวทางแก้ไข

การปรับปรุงระบบน้ำประปา

  • การก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบ
  • การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย
  • การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
  • การติดตั้งโครงข่ายการจ่ายน้ำประปา

ปัญหา

การขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจากครัวเรือนภาคอุตสาหกรรม และขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล

  • ครัวเรือน: มีการรวบรวมขยะมูลฝอยจาก ทุกพื้นที่และนำไปเทกองรวมบริเวณริมแม่น้ำเมย ประชาชนมักปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำโดยตรงซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเมย
  • ภาคอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล: มีการรวบรวมและนำไปเทกองในหลุมฝังกลบขยะบริเวณชานเมือง และบริเวณที่อยู่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรมเมียวดี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม

แนวทางแก้ไข

การพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ

  • การจัดหาเครื่องมือสำหรับจัดเก็บขยะ
  • การก่อสร้างเตากำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ จากโรงพยาบาล
  • การก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยจากขยะ
  • การปรับปรุงกระบวนการฝังกลบขยะ

4. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 สพพ. ได้รับหนังสือจากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า กต. เมียนมามีหนังสือขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองเมียวดีฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวการประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมา โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ รูปแบบวิธีการ และแหล่งที่มาของเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้

4.1 เงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

1. เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

1.1 อัตราดอกเบี้ย / ร้อยละ 1.50 ต่อปี

1.2 อายุสัญญา / 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี)

1.3 ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการของ สพพ. / ร้อยละ 0.15 ของวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งหมด

1.4 การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย / ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา

1.5 ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา / นิติบุคคลสัญชาติไทย

1.6 กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาเงินกู้ / กฎหมายไทย

2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

2.1 เป็นรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) ทั้งจำนวน รวมวงเงินกู้ทั้งสิ้น 777,770,000 บาท

2.2 แหล่งเงินที่ใช้ ประกอบด้วย

  • เงินงบประมาณ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 388,885,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี

ปีงบประมาณ / การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (บาท)

2564 / 19,444,250

2565 / 213,886,750

2566 / 155,554,000

รวมทั้งสิ้น 388,885,000

  • เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (ร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) รวมวงเงิน 388,885,000 บาท สพพ. จะกู้เงินมีระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก จะใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2.62 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะยาวทดแทน โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.67 ต่อปี ซึ่งแนวทางดังกล่าว สพพ. ได้หารือกับ สงป. แล้ว

4.2 วงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือ (เงินกู้ทั้งจำนวน) ประกอบด้วย

รายการ / จำนวนเงิน (บาท)

1. ค่าก่อสร้าง / 676,321,800

2. ค่าวิศวกรที่ปรึกษา / 33,816,100

การออกแบบรายละเอียด

การควบคุมงานก่อสร้าง

3. ค่าบริหารจัดการของเมียนมา / 1,600,500

4. ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด / 66,031,600

รวม 777,770,000

5. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ มีดังต่อไปนี้

5.1 การปรับปรุงระบบน้ำประปา ซึ่งครอบคลุมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต การกักเก็บ และการวางโครงข่ายส่งน้ำประปาบนพื้นที่ 33.79 เอเคอร์ (ประมาณ 136,745 ตารางเมตร) จะช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำประปาของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองกว่า 19,303 ครัวเรือน (ร้อยละ 70 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในเมืองเมียวดี)

5.2 การพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ ซึ่งครอบคลุมการปิดหลุมฝังกลบเดิมและก่อสร้างหลุมฝังกลบใหม่ที่มีการควบคุม การก่อสร้างเตากำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล และการสร้างโรงงานการผลิตปุ๋ยจากขยะบนพื้นที่ 31.00 เอเคอร์ (ประมาณ 125,453 ตารางเมตร) จะสามารถแก้ไขคุณภาพน้ำและน้ำเน่าเสียบริเวณริมแม่น้ำเมยให้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีในขยะที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งน้ำและอากาศของเมืองเมียวดี และริมแม่น้ำเมยในฝั่งไทยให้ดีขึ้น

5.3 การปรับปรุงและการพัฒนาดังกล่าว จะเสริมสร้างบรรยากาศในการประกอบธุรกิจเพื่อดึงดูดผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในเมียนมา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเจริญในการพัฒนาชุมชนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจรวมถึงพื้นที่เชื่อมโยงอื่นภายในประเทศไทย รวมถึงพัฒนาห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากของไทย และเขตอุตสาหกรรมเมียวดีของเมียนมา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเมืองคู่แฝด “เมียวดี – แม่สอด”

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ