คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยซึ่งได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินมาตรการดังกล่าวแล้ว
1. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันมีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะทางยกระดับทั้งหมด มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
2. สัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ประกอบด้วยคู่สัญญาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) สัญญาสัมปทานรูปแบบ Gross Cost Contract โดยภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้ภาคเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานแบบคงที่ มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมิได้ระบุในสัญญา เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสารและจ้างเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามข้อบังคับ ดังนี้
(1) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2559
(2) ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระ ค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. 2561
ปัจจุบันมีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร 14 – 42 บาท ตามระยะทางสำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ชื้อเหรียญโดยสาร (Token) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด ร้อยละ 50 สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกิน วันเกิดครบอายุ 14 แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลดร้อยละ 10 จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าวข้างต้น
3. มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท ) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14 - 42 บาท) ในรายละเอียด ดังนี้
1) ประมาณการการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร โดยใช้แบบจำลองประมาณการ Ridership Forecast (eBUM) พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน โดยมีรายละเอียดแสดงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้โดยสารและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามรายะทางโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท) ดังแสดงในตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์จากมาตรการปรับลดอัตรา ค่าโดยสาร
2) การวิเคราะห์ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสาร พบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็น 38,703,701 บาท/เดือน โดยมีรายละเอียดดังแสดในตารางที่ 7 แสดงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) จากมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท)
การวิเคราะห์มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โดยการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 - 20 บาท) ตามข้อ 3 พบว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแต่รายได้จากค่าโดยสารลดลง โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน และรายได้จากค่าโดยสารลดลงร้อยละ 46.1 คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 15.24 ล้านบาท/เดือน
อย่างไรก็ตามการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (SROI) ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 38,703,701 บาท/เดือน และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับดังกล่าวต่อรายได้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้รับลดลงเมื่อดำเนินมาตรการ หรือมูลค่า SROI : รายได้ที่ลดลงจะเท่ากับจะมีผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับสูงเป็น 2.5 เท่าของรายได้ที่ลดลง
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เห็นว่ามาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดเวลาการเดินทางและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ ลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมทั้งลดปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหลักในการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเป็นส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนก่อให้เกิดการใช้ความจุของรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากยิ่งขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562