คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของ ผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ หรืออนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 โดยมีพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายอนุวัติการพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศที่มีต่อคนโดยสาร ผู้ตราส่งและผู้รับตราส่ง รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การจำกัดความรับผิด (limits of liability) โดยกำหนดเป็นหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights ; SDR)
2. สำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้มีหนังสือถึงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งเรื่องการทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามข้อ 24 ของอนุสัญญาฯ ว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา (Depository) ได้พิจารณาทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามอนุสัญญาฯ ตามรอบระยะเวลา 5 ปี โดยอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อสะสมซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 โดยการทบทวนดังกล่าวนี้ จะมีผลใช้บังคับภายในหกเดือนนับจากหนังสือแจ้งดังกล่าวนี้ คือ ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 รวมทั้งแจ้งว่าไม่มีกรณีรัฐภาคีส่วนใหญ่แจ้งไม่เห็นด้วยกับการทบทวนปรับแก้เกณฑ์ดังกล่าวภายใน 3 เดือน นับจากหนังสือฉบับแรกของ ICAO และ ICAO ขอให้รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ จัดทำกฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ
3. คค. เห็นว่า เกณฑ์จำกัดความรับผิดใหม่นี้มีความเหมาะสมตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของโลก และเพื่อให้คนโดยสาร ผู้ตราส่ง หรือผู้รับตราส่ง ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้นจากผู้ขนส่ง และโดยที่ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คค. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อปรับปรุงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่มีต่อคนโดยสาร สัมภาระของคนโดยสาร และของที่รับขนส่ง
1. เปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 โดยให้ใช้เกณฑ์จำกัดความรับผิด ดังต่อไปนี้แทน
เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเรื่องเดิม
- คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย (มูลค่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งไม่อาจบอกปัดหรือจำกัดได้)(มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ)
หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน(Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
113,100(ประมาณ 4,784,763 บาท)
ทบทวนและปรับแก้ในครั้งนี้ หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน* (Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
128,821(ประมาณ 5,462,491 บาท)
เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเรื่องเดิม
- ความล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร (มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ)
หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน(Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
4,694(ประมาณ 198,582 บาท)
ทบทวนและปรับแก้ในครั้งนี้ หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน* (Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
5,346(ประมาณ 226,690 บาท)
เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเรื่องเดิม
- สัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า(มาตรา 16 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ)
หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน(Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
1,131(ประมาณ 47,848 บาท)
ทบทวนและปรับแก้ในครั้งนี้ หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน* (Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
1,288 (ประมาณ 54,616 บาท)
เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเรื่องเดิม
- ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า (มาตรา 39 ของพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ)
หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน(Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
19/กิโลกรัม(ประมาณ 804 บาท)
ทบทวนและปรับแก้ในครั้งนี้ หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน* (Special Drawing Rights : SDR)/ คนโดยสาร
22/กิโลกรัม(ประมาณ 933 บาท)
- กพท. ได้คำนวณเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่อาจมีการปรับแก้เพิ่มเติมตามที่ ICAO ได้แจ้ง โดยนำข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2562 มาคำนวณเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวน และเมื่อมีการปริวรรตเป็นเงินบาท โดย 1 SDR เท่ากับ 1.37 USD และ 1 USD เท่ากับ 30.88 บาท
2. พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มกราคม 2563