เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ที่ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ พ.ศ. …. 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาในการแจ้งการมีไว้ในครอบครอง หรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ พ.ศ. …. 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. รับทราบรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. รวม 3 ฉบับ ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ที่ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
กำหนดให้ผู้มีไว้ครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ซึ่งไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ และเพื่อใช้งานในสถานพยาบาล ต้องแจ้งครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ดังนี้
(1) เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป (general x – ray machine)
(2) เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม (dental x – ray machine)
(3) เครื่องเอกซเรย์เต้านม (mammographic x – ray machine)
(4) เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (bone densitometer)
(5) เครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือด (angiogram or digital subtraction angiography)
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาในการแจ้งการมีไว้ในครอบครอง หรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
2.1 กำหนดนิยาม คำว่า “ใบแจ้งครอบครอง” “เครื่องกำเนิดรังสี” “ผู้แจ้ง” และ “ผู้รับแจ้ง”
2.2 ให้ผู้แจ้งยื่นแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ก่อนการใช้งานครั้งแรกต่อผู้รับแจ้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีไว้ในครอบครองหรือใช้
2.3 ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วน ในกรณีที่แบบคำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ผู้รับแจ้งแจ้งต่อผู้แจ้งทราบและดำเนินการแก้ไขหรือส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในสามสิบวัน
2.4 ผู้แจ้งที่ประสงค์จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบแจ้งครอบครองซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อมูลรายการเครื่องกำเนิดรังสีที่แจ้งครอบครองหรือใช้ ให้ยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบแจ้งครอบครองต่อผู้รับแจ้งภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
2.5 ในกรณีที่ใบแจ้งครอบครองชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้แจ้งยื่นคำขอรับใบแทนใบแจ้งครอบครองต่อผู้รับแจ้ง พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบแทนใบแจ้งครอบครองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบถึงการชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย
2.6 ในกรณีผู้แจ้งมีความประสงค์จะยกเลิกการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีตามที่ได้แจ้งไว้ ให้ผู้แจ้งยื่นคำขอยกเลิกการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อผู้รับแจ้ง
2.7 กรณีเครื่องกำเนิดรังสีตามที่ได้แจ้งครอบครองหรือใช้เกิดสูญหาย ให้ผู้แจ้งแจ้งต่อผู้รับแจ้งภายในสิบวันนับแต่วันที่ทราบเหตุแห่งการสูญหาย และให้ผู้รับแจ้งดำเนินการแก้ไขเอกสารแนบท้ายใบแจ้งครอบครองให้กับผู้แจ้งภายในสิบห้าวัน
2.8 แบบคำขอแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี แบบคำขอแก้ไขใบแจ้งครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี แบบคำขอรับใบแทนใบแจ้งครอบครอง แบบคำขอยกเลิกการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี แบบคำขอเพิ่มรายการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี และแบบแจ้งเครื่องกำเนิดรังสีสูญหาย ให้เป็นไปตามที่ผู้รับแจ้งประกาศกำหนด
2.9 ให้ผู้รับแจ้งรายงานข้อมูลการแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
3.1 กำหนดนิยาม คำว่า “ความปลอดภัยทางรังสี” “มาตรการด้านความปลอดภัยทางรังสี” “เครื่องกำเนิดรังสี” “ผู้แจ้ง” “ผู้รับแจ้ง” “ปริมาณรังสีสมมูล” “ปริมาณรังสียังผล” และ “ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี”
3.2 กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางรังสี โดย
- ผู้แจ้งต้องดูแลรักษาให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ครอบครองหรือใช้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์
- สถานที่ บริเวณ หรือห้อง ที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดรังสี ต้องสามารถป้องกันรังสีได้ตามมาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
- ต้องมีสัญลักษณ์เตือนภัยทางรังสีหรือคำเตือน
- ผู้แจ้งต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันรังสีสำหรับผู้ป่วยหรือญาติ รวมถึงของบุคลากรที่จำเป็นต้องอยู่ภายในห้องเครื่องกำเนิดรังสีตามความเหมาะสม
- ผู้แจ้งต้องจัดให้มีอุปกรณ์รังสีบุคคล เช่น แผ่นวัดรังสีโอเอสแอล (OSL) หรือ ทีแอลดี (TLD) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือหน่วยงานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศรับรอง
3.3 กำหนดขีดจำกัดปริมาณรังสี โดย
- ผู้แจ้งต้องควบคุมดูแลและป้องกันอันตรายจากรังสีให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีต้องไม่ได้รับรังสีเกินกว่าขีดจำกัดปริมาณรังสีที่กำหนด
- ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร ให้ใช้ขีดจำกัดปริมาณรังสีเช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไป
- ผู้แจ้งต้องควบคุมการป้องกันอันตรายจากรังสีให้การใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีมีความปลอดภัย สามารถป้องกันรังสีที่ประชาชนจะมีโอกาสได้รับรังสีไม่เกินกว่าขีดจำกัดปริมาณรังสีที่กำหนด
3.4 กำหนดผู้ควบคุมใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี
- ผู้แจ้งต้องจัดให้มีผู้ควบคุมใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี โดยคุณสมบัติเป็นผู้มีใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นักฟิสิกส์การแพทย์ หรือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรังสี ปฏิบัติงานภายใต้กำกับดูแลของผู้มีใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพ
3.5 กำหนดการดำเนินการด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี
- ผู้แจ้งต้องรับผิดชอบป้องกันอันตรายจากรังสีจากการใช้เครื่องกำเนิดรังสี โดยจัดให้มีการดำเนินการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสี ให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ครอบครองหรือใช้มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
- ให้ผู้แจ้งรายงานผลการดำเนินการด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้รับแจ้ง โดยยื่นพร้อมกับการยื่นสำเนารายงานผลการทดสอบเครื่องกำเนิดรังสีภายใน 60 วัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มกราคม 2563