คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องขอความเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. รับทราบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ โดยในส่วนของงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่ให้ สทนช. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ หากไม่เพียงพอเห็นควรให้ สทนช. พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี หรือโอนงบประมาณรายจ่าย โอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร จากโครงการ/รายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ และมีงบประมาณเหลือจ่าย และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็นแล้วแต่กรณี เพื่อมาสมทบในการดำเนินการตามแผนของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเป็นลำดับแรก
2. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาทั้งภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วมซึ่งส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ รัฐบาลพร้อมด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหามิให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาวิกฤตน้ำโดยการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานหลักจัดการภัยพิบัติรวมถึงปัญหาวิกฤตน้ำ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับระดับการจัดการสาธารณภัยตามแผนฯ ซึ่งแบ่งสาธารณภัยออกเป็น 4 ระดับ คือ สาธารณภัยขนาดเล็ก สาธารณภัยขนาดกลาง สาธารณภัยขนาดใหญ่ และสาธารณภัยขนาดร้ายแรงยิ่ง และพิจารณายกระดับสาธารณภัยตามขนาดพื้นที่ประสบภัย จำนวนประชากรที่ได้รับความเดือดร้อน หรือความสามารถในการรับมือเผชิญเหตุด้วยทรัพยากรที่แต่ละพื้นที่มีอยู่เป็นหลัก ในการนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน สามารถเตรียมการรับมือกับปัญหาวิกฤตน้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบูรณาการและให้มีข้อมูลทุกด้านที่เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้มาตรการในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
2. สนทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. ได้จัดทำกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเสนอ กนช. ซึ่งในคราวประชุม กนช. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) โดยให้มีโครงสร้างถาวรใน สนทช. และต่อมาในการประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ สทนช. ดำเนินการต่อไป
3. กรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 ปัจจุบัน สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2562 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยในการทำหน้าที่ สทนช. ต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิกฤตน้ำด้วย เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นต้น ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติจำเป็นต้องกำหนดองค์กรหรือผู้รับผิดชอบเพื่อทำหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ เอาไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำและลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ดังนั้น การจัดทำกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำรวมถึงโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมี สทนช. เป็นฝ่ายเลขานุการถาวรที่ทำหน้าที่สนับสนุน จึงมีความจำเป็นและสำคัญเร่งด่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
3.2 กรอบโครงสร้างขององค์กรภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและองค์ประกอบ
3.2.1 กำหนดโครงสร้างตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ ดังนี้
1) ระดับ1 ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ของระดับภาค
2) ระดับ 2 ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และคาดว่า จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 ของระดับภาคและ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง
3) ระดับ 3 ภาวะวิกฤติ (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ) และคาดว่า จะมีผลกระทบกับประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 ของระดับภาค และ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง
3.2.2 กรอบโครงสร้างฯ มีรายละเอียด ดังนี้
ระดับ 3(วิกฤติหรือคาดว่าจะวิกฤติ
โครงสร้าง ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
องค์ประกอบ ผู้บัญชาการ : นายกรัฐมนตรี
หน้าที่และอำนาจที่สำคัญ
(1) ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป
(2) ออกคำสั่งเพื่อการป้องกันแก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา
(3) บัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤติน้ำ
ระดับ 2 (รุนแรงหรือคาดว่าจะรุนแรง)
โครงสร้าง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
องค์ประกอบ
ผู้อำนวยการ :รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
รองผู้อำนวยการ : เลขาธิการ สทนช.
แบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มอำนวยการในภาวะวิกฤติ
(2) กลุ่มคาดการณ์ในภาวะวิกฤติ
(3) กลุ่มบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ
(4) กลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ
หน้าที่และอำนาจที่สำคัญ
(1) บริหารจัดการน้ำซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติน้ำรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ 2)
(2) ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ เพื่อประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำต่อ บกปภ.ช. และสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชน โดยอำนวยการและบูรณาการร่วมกับ บกปภ.ช. เพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงสถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ
ระดับ 1 (สถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น)
โครงสร้าง ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ
องค์ประกอบ
ผู้อำนวยการ : เลขาธิการ สทนช.
รองผู้อำนวยการ : รองเลขาธิการ สทนช.
แบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
(1) คณะทำงานอำนวยการ
(2) คณะทำงานคาดการณ์
(3) คณะทำงานบริหารจัดการน้ำ
(4) คณะทำงานแจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์
หน้าที่และอำนาจที่สำคัญ
(1) อำนวยการ บริหารจัดการ รวบรวม บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
(2) ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ
(3) วิเคราะห์สถานการณ์ รายงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แล้วแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) และหน่วยปฏิบัติ อื่น ๆ เพื่อรับทราบข้อวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการ รวมทั้งแนวโน้มความรุนแรงเป็นการล่วงหน้า
ภาวะปกติ
โครงสร้าง ผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ (เป็นหน่วยงานภายใน สทนช.)
องค์ประกอบ ผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ (เป็นหน่วยงานภายใน สทนช.)
หน้าที่และอำนาจที่สำคัญ
ติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของประเทศ ทั้งภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้งอย่างใกล้ชิด
3.3 แนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
แนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น (ระดับ 1)
1. ติดตาม เฝ้าระวัง สภาพอากาศสถานการณ์น้ำในลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ
2. บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. วิเคราะห์สถานการณ์น้ำทั้งด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย ภัยแล้งและปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน
ภาวะรุนแรง หรือคาดว่าจะรุนแรง (ระดับ 2)
1. ติดตามเฝ้าระวังเพื่อประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
2. ประเมินการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. อำนวยการร่วมกับ กอปภ.ก
4. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการน้ำผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด
5. จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
6. ประมวลผลข้อมูลเพื่อนำเสนอไปสู่การตัดสินใจยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจหรือการประกาศเข้าสู่ภาวะปกติ
ภาวะวิกฤติ หรือคาดว่าจะวิกฤติ (ระดับ 3)
1. ติดตามเฝ้าระวังเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
2. บัญชาการร่วมกับ บกปภ.ช.
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินตัดสินใจร่วมกันเพื่อเสนอผู้บัญชาการสั่งการในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ
4. การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ
5. จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
4. เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเป็นการแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายด้านน้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในกรณีเกิดภาวะวิกฤตเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับประกอบการตัดสินใจพิจารณาตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้ในกรณีเกิดปัญหาวิกฤตน้ำจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ หรือพืช หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐอย่างรุนแรง ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาวิกฤตน้ำจะผ่านพ้นไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มกราคม 2563