มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย

ข่าวการเมือง Tuesday January 7, 2020 18:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการ/โครงการที่เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. รับทราบมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs/โครงการ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. เห็นชอบมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญ

มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย มีรายละเอียด ดังนี้

1. กลุ่ม SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยปรับปรุงวัตถุประสงค์และคุณสมบัติ SMEs ของโครงการ PGS 8 ให้ บสย. สามารถค้ำประกันกับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว และต้องได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้รวมถึงสินเชื่อ Re-finance เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้ บสย. กำหนดวงเงินค้ำประกันและการจ่ายค่าประกันชดเชยโครงการดังกล่าว โดยให้บริหารจัดการภายในงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว ซึ่งในเบื้องต้น บสย. ได้กำหนดวงเงินไว้ 10,000 ล้านบาท และกำหนดการจ่ายค่าประกันชดเชยเฉลี่ยสูงสุดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินค้ำประกันโครงการนี้

ทั้งนี้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี สำหรับกรณีประนอมหนี้กับ บสย. ให้ บสย. สามารถพิจารณาลดต้นเงินค่าประกันชดเชยในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการชำระหนี้ได้ โดยให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ บสย.

นอกจากนี้ เพื่อให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำเสนอคณะกรรมการกองทุน สสว. เพื่อจัดสรรเงินงบประมาณจากโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. ที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้กับ บสย. เพื่อดำเนินโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย อีกจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย มีวงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินค้ำประกันโครงการนี้ โดยให้ บสย. กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อโครงการดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม

อนึ่ง เงินในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. ขอให้ สสว. ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วด้วย

1.2 โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน มีวงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ และวัตถุประสงค์โครงการ โดยให้รวมถึงธุรกิจที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียวได้ โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

1.3 โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity ของธนาคารออมสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ลบร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.375 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี) ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่มีความพร้อมพิจารณาดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันเพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SMEs ได้กว้างขวางมากขึ้น

2. กลุ่ม SMEs ที่กำลังจะถูกฟ้อง

โครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 เพื่อเป็นการช่วยเหลือ SMEs ที่กำลังจะถูกฟ้องในโครงการดังกล่าว จึงเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างนี้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้ บสย. กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าประกันชดเชยให้เหมาะสมในส่วนที่ขยายระยะเวลา โดยให้ บสย. บริหารจัดการให้ค่าประกันชดเชยอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว

เมื่อ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงินแล้ว ให้สถาบันการเงินติดตามการชำระหนี้ในส่วนที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้แล้ว โดยไม่เป็นการว่าจ้าง พร้อมทั้งให้ บสย. ทำความตกลงกับสถาบันการเงินในรายละเอียดต่อไป

สำหรับกรณีประนอมหนี้กับ บสย. ให้ บสย. สามารถพิจารณาลดต้นเงินค่าประกันชดเชยในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการชำระหนี้ได้ โดยให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ บสย.

3. กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

3.1 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

3.2 โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก พร้อมทั้งปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้สามารถให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วได้ด้วย

3.3 โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินเร่งประชาสัมพันธ์โครงการและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs

3.4 โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ให้ ธ.กรุงไทย เร่งประชาสัมพันธ์โครงการและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs

3.5 โครงการ PGS 8 ของ บสย. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 สำหรับวงเงินค้ำประกันคงเหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี สำหรับกรณีประนอมหนี้กับ บสย. ให้ บสย. สามารถพิจารณาลดต้นเงินค่าประกันชดเชยในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการชำระหนี้ได้ โดยให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ บสย. นอกจากนี้ ยังขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริง

3.6 โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้า SMEs เป้าหมาย เช่น ลูกค้าเดิมของ บสย. ลูกค้าในธุรกิจที่มี NPLs ต่ำ เป็นต้น วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

4. มาตรการอื่น ๆ

4.1 ขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะ Preemptive TDR และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

4.2 ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์กำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

4.3 มาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม

กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (มาตรการทางภาษีฯ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า การให้บริการ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า การให้บริการ และการกระทำตราสารระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดและเฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสารระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

4) ยกเว้นให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นในส่วนของหนี้ที่ปลดให้แก่ลูกหนี้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด

5) ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้ (1) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดเพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือห้องชุดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่น (2) กรณีสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ได้รับโอนมาตาม (1) ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น (3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือระหว่างลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดซึ่งเป็นหลักประกันอยู่เดิมหรืออสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดซึ่งนำมาเป็นหลักประกันใหม่ และ (4) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดนั้นไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุด ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตาม (4) สำหรับจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และให้เรียกเก็บตามอัตราปกติสำหรับราคาประเมินทุนทรัพย์ส่วนที่เกินจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ดังกล่าว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ