คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ทั้งนี้ ในการรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปีต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปีก่อน รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขมาพร้อมกันด้วย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป
ทส. รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งมียุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์หลักด้านสิ่งแวดล้อม และมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564
2. สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาของประเทศ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วง พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562
2.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาที่มีสถานการณ์ดีขึ้น ดังนี้
สาขา - รายละเอียด
ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน - ดินที่มีปัญหาที่เกิดตามสภาพธรรมชาติใน พ.ศ. 2561 มีเนื้อที่ร้อยละ 18.72 ของเนื้อที่ประเทศ โดยได้รับการปรับปรุงและฟื้นฟูให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2561 มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตรลดลง พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น
ทรัพยากรแร่ - การผลิต การใช้ และการส่งออกแร่ มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2560 โดยแร่ที่มีมูลค่าการผลิตและการใช้สูงที่สุด คือ หินปูน และแร่ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คือ โลหะดีบุก และแร่ยิปซัม
พลังงาน - การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.47 การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น
ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า - พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น และมีจำนวนจุดความร้อนสะสมลดลง สัตว์ป่าที่สำคัญและเป็นที่น่าสนใจในระดับนานาชาติ มีการกระจายตัวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ป่า 36 ชนิด เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ป่าและช่วยรักษาระบบนิเวศ
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น และแนวปะการังมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
ความหลากหลายทางชีวภาพ - พื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มขึ้น
สิ่งแวดล้อมชุมชน - พื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และจำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครลดลง
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม - สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (น้ำตก ภูเขา และถ้ำ) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ - ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าลดลง
2.2 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง ได้แก่
สาขา - รายละเอียด
พลังงาน - การนำเข้าพลังงานและการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
ทรัพยากรน้ำ - ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลง
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล มีการกำจัดไม่ถูกต้อง มีแนวโน้มลดลงจาก พ.ศ. 2559 แต่ยังคงพบขยะพลาสติกในขยะทะเล
สถานการณ์มลพิษ - คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นและเขตอุตสาหกรรม ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น
3. ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นที่สนใจของประชาชนสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ
1. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2561 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยภาครัฐได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานที่เกิดขึ้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
2. ขยะพลาสติก
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีจำนวน 27.93 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชนประมาณ 2.0 ล้านตัน สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 0.5 ล้านตัน (ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก) ส่วนที่เหลือจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ล้านตัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 -2573 สำหรับใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายการลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ขยะอิเล็กทรอนิกส์
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนทีเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2561 มีประมาณ 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 ร้อยละ 3.2 โดยส่วนประกอบของของเสียอันตรายร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และร้อยละ 35 เป็นของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการบริโภค (ร่างพระราชบัญญัติฯ ตอไปจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล)
4. การกัดเซาะชายฝั่ง
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่ง ใน พ.ศ. 2560 ประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร มีพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประมาณ 704.44 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 558.71 กิโลเมตร และพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไข 145.73 กิโลเมตร โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยพิบัติรุนแรง และการสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นแม่น้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนหลัก และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายพื้นที่ ครอบคลุมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ
4. การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในระยะยาว มีผลเกิดจากปัจจัยขับเคลื่อนและแรงกดดันด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนี้
หัวข้อ
1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านสังคม
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคและการขยายตัวของชุมชนและเมือง จะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานเพิ่มขึ้น ความไม่เท่าเทียมในสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น ความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งแปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมผู้สูงอายุ ทำให้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บางประการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมจะมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการสื่อสารออนไลน์ที่รวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านพลังงาน การผลิต และการคมนาคมขนส่ง รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลและระบบดิจิทัล จะส่งผลให้เกิดการวางแผนและกระบวนการผลิต ที่มีแนวโน้มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการติดตามและประเมินสถานการณ์มลพิษทางอากาศ จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และทันเหตุการณ์มากขึ้น
3. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตในภาคการเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ จะส่งผลให้เกิดความแออัดของแรงงานในพื้นที่แหล่งผลิต เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเร่งจากการลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต จากภาวะการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาระหว่างประเทศของผู้ผลิตน้ำมันส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
4. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ชนิดพันธุ์ที่มีความอ่อนไหวหรือไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจจะค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติ และอาจได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเล พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ในเขตเมือง นอกจากนี้ จะมีแนวโน้มการแข่งขันของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่มีอยู่จำกัด จึงมีแนวโน้มในการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น
5. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยด้านนโยบาย
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นโยบายของประเทศจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 -2580) และแผนแม่บทต่าง ๆ เนื่องจากมีระบบงบประมาณ นโยบายและแผนต่าง ๆ เป็นกลไกสนับสนุนและกำกับการดำเนินงาน ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างประเทศ เช่น ปัญหาขยะทะเล
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรการระยะสั้น ในช่วง 1 – 2 ปี
1. การลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการในการลดปัญหาที่แหล่งกำเนิด เสริมสร้างระบบการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิดให้มีประสิทธิภาพ ลดความกระจุกตัวของการคมนาคมในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น โดยขยายโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทั้งระบบ กำหนดเขตพื้นที่จำกัดปริมาณรถยนต์ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรถโดยสารสาธารณะอื่น ๆ ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ พิจารณาแนวทางในการใช้มาตรการทางภาษีควบคุมรถยนต์เก่าและส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว กำหนดให้มีรูปแบบการสื่อสาร ควบคุมและสั่งการในภาวะเร่งด่วนที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการซักซ้อมทำความเข้าใจก่อนเกิดเหตุ
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
กรมควบคุมมลพิษ
กรุงเทพมหานคร
จังหวัดในพื้นที่ปริมณฑล
กรมการขนส่งทางบก
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
และกรมประชาสัมพันธ์
2. การจัดการขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ถูกทิ้งรวมกันและนำไปสู่การกำจัดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ต้องให้ความสำคัญในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทาง การนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์และการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการที่เหมาะสม เน้นการนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ก่อนเข้าสู่ระบบการกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยการคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติก ขยะอาหาร และขยะอินทรีย์อื่น ๆ อย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดโอกาสและจูงใจให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการขยะมูลฝอย ส่งเสริมการรวมกลุ่มในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ และปรับบทบาทจากผู้ดำเนินการมาเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กรมควบคุมมลพิษ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สำนักงานปลัดกระทรวง
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และสำนักงานคณะกรรมการ
การอาชีวศึกษา
3. การพัฒนาระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผน การติดตามประเมินผล รวมถึงการสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ควรประกอบด้วยสถานการณ์และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมตามตัวชี้วัดของแผนต่าง ๆ ข้อมูลองค์ความรู้และแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม และข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมให้เป็นเอกภาพ มีความทันสมัย และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะระบบข้อมูลที่แสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ๆ ของประเทศ
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. การพัฒนาและยกระดับระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อเป็นกลไกที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ SEA ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติมากนัก รวมทั้งควรมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาหรือการฝึกอบรมด้าน SEA
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
สำนักงานสภาพัฒนา
การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน
และการเหมืองแร่
และกรมทรัพยากรธรณี
มาตรการระยะยาวในช่วง 3 – 10 ปี
1. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยดำเนินการพัฒนาคุณภาพของคนให้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภค ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมปรับปรุงกลไกและพัฒนาเครื่องมือในการสื่อสาร
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมประชาสัมพันธ์
กรมควบคุมมลพิษ
และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
2. การส่งเสริมระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควรมีการส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560 – 2564 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและบริการ
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
กรมควบคุมมลพิษ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
และกรมบัญชีกลาง
3. การศึกษาและพัฒนาระบบการอนุญาตปล่อยมลพิษ เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ควบคุมดูแลการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมหรือจากเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยควรมีองค์กรกลางที่มีใบอนุญาตทำการตรวจสอบรับรอง และรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษผู้ปล่อยมลพิษหรือลักลอบทิ้งของเสียอันตราย กำหนดความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมทบทวนการประกาศและยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ โดยพิจารณาจากข้อมูลระดับมลพิษและศักยภาพในการจัดการมลพิษของแต่ละพื้นที่
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
กรมควบคุมมลพิษ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
4. การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต เป็นการช่วยแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาดจากการขยายตัวของการบริโภค รวมทั้งช่วยจัดการปัญหาด้านขยะมูลฝอย โดยควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้มีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ทั้งทางด้านภาษีสิ่งแวดล้อมและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการเปลี่ยนขยะหรือเศษวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน ส่งเสริมการดำเนินงานที่ใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตให้มีการสูญเสียหรือกลายเป็นวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด หรือสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมเพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม
กรมพัฒนาพลังงานทดแทน
และอนุรักษ์พลังงาน
และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
5. การพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างความร่วมมือ ความเจริญ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี เกิดการประสานข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ดีขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมการรวมตัวในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นภาคีความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยะทะเล หมอกควันจากไฟป่า สิ่งแวดล้อม เมืองที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่และระหว่างพื้นที่
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
สศช.
สำนักงานนโยบายและแผน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช
กรมพัฒนาที่ดิน
และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มกราคม 2563