ร่างบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่ทักษะเฉพาะ

ข่าวการเมือง Tuesday January 14, 2020 19:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นกับกระทรวงแรงงาน (รง.) ราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ (Draft of Memorandum of Cooperation between the Ministry of Justice, the Ministry of Foreign Affairs, the Ministry of Health, Labour and Welfare and the National Police Agency of Japan and the Ministry of Labour of the Kingdom of Thailand on a Basic Framework for Information Partnership for Proper Operation of the System Pertaining to Foreign Human Resources with the Status of Residence of “Specified Skilled Worker” : MOC) โดยอนุมัติให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของบันทึกความร่วมมือฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย

สาระสำคัญของร่างบันทึกความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดส่งและการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างราบรื่น แก้ไขปัญหาในการส่งและการรับแรงงาน และปัญหาของการพำนักอยู่ในญี่ปุ่นของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยมีกรอบความร่วมมือ (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล : แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือจำเป็นเร่งด่วนต่อกระบวนการส่ง – รับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับประเภทอุตสาหกรรมที่มีความต้องการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และที่เกี่ยวกับการดำเนินการขององค์กรกลาง (Intermediary Organization) ทั้งที่เป็นบุคคลหรือองค์กรในประเด็นที่เกี่ยวข้อง (2) การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและประเด็นอื่น ๆ

ทั้งนี้ กระทรวงและหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทย โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของประเทศญี่ปุ่น เช่น (1) จะต้องรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมตามที่กำหนดไว้ จำนวน 14 สาขา (เช่น ผู้อนุบาลงานจัดการความสะอาดอาคาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมก่อสร้าง เกษตรกรรม การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น)

สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน (ประเทศไทย) มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทย โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เช่น (1) จัดส่งแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทยโดยผ่านช่องทางการจัดส่งของกรมการจัดหางาน บริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างในประเทศไทยพาไปทำงาน หรือโดยการแจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง (2) อนุญาตให้องค์กรกลาง (Intermediary Organization) จัดเก็บค่าบริการได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ กำหนด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ