คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาสมัยที่ 14 (National Preparatory Committee – NPC) ตามองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – UN Crime Congress) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ได้เชิญรัฐบาลไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (UN Crime Congress) ระหว่างวันที่ 20 – 27 เมษายน 2563 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
กำหนดการประชุมที่สำคัญ การหารืออย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 19 เมษายน 2563 และการประชุมระดับสูงภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing crime prevention, criminal justice and the rule of law : towards the achievement of the 2030 Agenda” ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2563 โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญตามระเบียบวาระการประชุมได้แก่ (1) Crime prevention (2) Criminal justice system (3) Rule of law และ (4) International cooperation and technical assistance ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณารับรองร่างปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) เป็นเอกสารผลลัพธ์
สำหรับการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 14 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาชญากรรม (NPC) ในลักษณะเดียวกับการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 13 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นและแนวโน้มที่สำคัญด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์และท่าทีไทยในการเจรจาประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์หลักของประเทศ ฯ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มกราคม 2563