คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเอกสารเพิ่มเติม (Additional Information) การนำเสนอพื้นที่กลุ่ม ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม (Additional Information) การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ
เอกสารเพิ่มเติม (Additional Information) การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลก เป็นการจัดทำคำชี้แจงประเด็นต่าง ๆ และรายงานผลการดำเนินงานตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2562 วาระการประชุม 8B.5 การพิจารณาการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่มีมติให้ส่งกลับเอกสาร (Referral) ให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ สรุป ดังนี้
1. ปรับปรุงแนวขอบเขตการนำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงระหว่างรัฐภาคีราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ราชอาณาจักรไทยได้ดำเนินการปรับขอบเขตพื้นที่การนำเสนอฯ ตามบันทึกการหารือ (Agreed Minutes) ในการประชุมหารือร่วมกันของคณะเจ้าหน้าที่เทคนิคไทย – เมียนมา วันที่ 25 – 26 เมษายน 2562 ณ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร และตามที่ได้หารือร่วมกันในระหว่าง การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยพื้นที่นำเสนอฯ มีขนาด 4,089.4 ตารางกิโลเมตร
2. เตรียมการและนำเสนอข้อมูลที่ปรับปรุงด้านการศึกษาเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่าการลดขนาดของพื้นที่การนำเสนอแหล่งเป็นมรดกโลกยังคงมีคุณค่าความโดดเด่นเพียงพอตรงตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 10 และยังคงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของความครบถ้วนสมบูรณ์ การปกป้องคุ้มครองและแผนการบริหารจัดการ
ราชอาณาจักรไทยได้ดำเนินการวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณค่าของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานในเรื่องส่วนความหลากหลายทางชีวภาพของสังคมพืชและสัตว์ ความเหมาะสมของถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นำเสนอใหม่ และแผนการป้องกันและการบริหารจัดการพื้นที่ที่ยังคงดำเนินการครอบคลุมเต็มพื้นที่และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดให้มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) และการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในการป้องกันและรักษาทรัพยากรในพื้นที่
3. แสดงให้เห็นว่าข้อห่วงกังวลทั้งหมดได้รับการแก้ไขโดยการปรึกษาอย่างเต็มที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ตามเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ย่อหน้าที่ 123
ราชอาณาจักรไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาตามข้อห่วงกังวลของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และการรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของชุมชนต่อการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพ้นที่ และชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 – 2563 ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวในชุมชน ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ต่อเนื่อง จำนวน 52 หมู่บ้าน ทั้งชุมชนชาวไทยและชุมชนชาวกะเหรี่ยง – กะหร่าง โดยมีชาวบ้านจำนวน 1,947 ราย จาก 40 หมู่บ้าน ให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
4. สนับสนุนให้หารืออย่างต่อเนื่องระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์กรที่ปรึกษาและเสนอแนะให้เชิญสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาปฏิบัติภารกิจในการให้คำปรึกษาในการดำเนินการจัดเตรียมเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ร้องขอตามข้อมติ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลก เพื่อเชิญผู้แทนจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาทางธรรมชาติของคณะกรรมการมรดกโลกตรวจเยี่ยมพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และอยู่ระหว่างรอการตอบรับคำเชิญ
5. สนับสนุนให้รัฐภาคีสมาชิกไทยและเมียนมาดำเนินงานร่วมกันในการเชื่อมต่อแนวระบบนิเวศ และร่วมมือด้านการอนุรักษ์ระหว่างแหล่งที่อยู่ระหว่างการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก และพื้นที่อนุรักษ์ในฝั่งเมียนมา
ราชอาณาจักรไทยมีความพร้อมและยินดีที่จะร่วมกับเมียนมา เพื่อร่วมกันจัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดน เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดน (Trans boundary) ร่วมกัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2563