คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะ และมอบหมายกระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มาตรการการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะใช้แนวทางการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากอากาศยานอย่างสมดุลที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้เสนอ ประกอบกับมาตรการการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียงจากท่าอากาศยานที่ได้จัดทำในปี 2547 และผลการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาเป็นแนวทางการพิจารณา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบิน ด้านผังเมือง ด้านสุขภาพ และท้องถิ่น ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในลักษณะงานบูรณาการร่วมกันในการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะ
2. มาตรการการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะมีเป้าหมาย คือ สนามบินสาธารณะทุกแห่งที่ได้รับความเห็นชอบแผนพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับการเดินทางทางอากาศ มีการดำเนินงานป้องกันปัญหามลพิษทางเสียงที่จะเกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสนามบินภายในปี 2566 โดยประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
2.1 มาตรการการนำแผนที่เส้นเท่าระดับเสียง ไปใช้ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสนามบิน มี 2 มาตรการย่อย ได้แก่ (1) ให้มีการจัดทำแผนที่เส้นเท่าระดับเสียงที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาสนามบินในระยะยาว และ (2) การนำแผนที่เส้นเท่าระดับเสียงไปใช้ในการจัดทำผังเมืองและการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสนามบินทั้งสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ โดยสนามบินเก่าที่เป็นสนามบินระดับภาค ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี สนามบินระดับจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี
2.2 มาตรการการจัดการผลกระทบด้านเสียงจากอากาศยานและวิธีปฏิบัติการบิน มี 1 มาตรการย่อย ได้แก่ ให้กำหนดวิธีปฏิบัติการบินโดยรอบสนามบินในการจัดการผลกระทบด้านเสียงที่เหมาะสมให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับใช้กับทั้งสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ เช่น รวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลการปฏิบัติการบินโดยรอบสนามบิน กำหนดวิธีปฏิบัติการบิน วิเคราะห์การปฏิบัติการบินกับพื้นที่อ่อนไหวโดยรอบสนามบิน และให้สนามบินเลือกวิธีปฏิบัติการบินที่เหมาะสม เป็นต้น
2.3 มาตรการการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการมลพิษทางเสียงและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน มี 4 มาตรการย่อย ได้แก่ (1) ให้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเสียงอากาศยานและการลดผลกระทบทางเสียงให้ทันสมัยและเหมาะสม (2) ให้พัฒนาระบบการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนที่รวดเร็วและถูกต้อง (3) ให้มีระบบการตรวจสอบระดับเสียง และ (4) ให้ศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบิน
2.4 มาตรการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเผยแพร่ข้อมูลการจัดการเสียงสนามบิน มีกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับใช้กับทั้งสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้าใจแก่จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนด้านการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบิน และจัดทำหลักเกณฑ์การเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษทางเสียงจากสนามบิน เป็นต้น
3. มาตรการการจัดการปัญหามลพิเษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะจัดทำขึ้นโดยคณะทำงานจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงจากสนามบิน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษ (โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบต่อมาตรการการจัดการปัญหามลพิษทางเสียงจากสนามบินสาธารณะตามที่ ทส.เสนอ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ กก.วล. ได้มอบหมายให้ คค. กห. มท. และ สธ. นำมาตรการดังกล่าวไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2563