สถานการณ์และแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ

ข่าวการเมือง Tuesday January 28, 2020 18:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานกิจการยุติธรรม) นำกรอบแนวทางฯ เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป โดยให้กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานกิจการยุติธรรม) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยดำเนินการให้สอดคล้องเป็นไปตามแผนแม่บทฯ รวมทั้ง การกำหนดกรอบแนวทางดังกล่าวควรคำนึงให้ครอบคลุมถึงมาตรการรองรับการลดจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศในระยะยาวต่อไป

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อรองรับการดำเนินการตามแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ เห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยคำนึงถึงการจัดหาในปริมาณที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการใช้งานจริง ประสิทธิภาพการใช้งานความคุ้มค่า ความเหมาะสมของราคา รวมทั้งความโปร่งใสในการดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบสถานการณ์และแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น 1) สถานการณ์จำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีผู้อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ จำนวน 374,052 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562) รวมถึงผู้ต้องราชทัณฑ์ จำนวน 364,488 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติด/สารระเหย (288,648 คน) 2) สถานการณ์ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศเกี่ยวกับพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังที่เกินความจุที่เรือนจำรองรับผู้ต้องขังได้ (เกินประมาณ 115,698 คน) ส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำสรุปได้ ดังนี้

ขนาดพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ

รวมจำนวน 305,312.42 ตารางเมตรสามารถรองรับผู้ต้องขัง จำนวน 254,302 คน

ผู้ต้องขังในปัจจุบันประมาณ 374,052 คน (ข้อมูล ณ 1 ตุลาคม 2562)

ประเด็น : จำนวนผู้ต้องขังในปัจจุบันเกินกว่าความสามารถที่เรือนจำจะรองรับพื้นที่เรือนนอนให้กับผู้ต้องขังได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดทำแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ประกอบด้วย 5 กรอบการดำเนินงาน สรุปได้ ดังนี้

กรอบที่ 1 กฎหมาย

เป็นการพิจารณากฎหมายในเชิงระบบตั้งแต่กระบวนการป้องกันมิให้คนเข้าสู่เรือนจำ การกำหนดมาตรการทางเลือกอื่นแทนการจำคุก การหาสถานที่อื่นแทนการจำคุก การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานเรือนจำเพื่อให้เกิดกระบวนการจำแนกและคัดกรองผู้ต้องขังชั้นดีให้ได้รับการลดโทษ พักโทษ รวมไปถึงมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เมื่อผู้กระทำความผิดได้พ้นโทษเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้กลับตัวและไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ

กรอบที่ 2 พักโทษ ลดโทษ และการใช้เครื่องมืองติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์

เป็นกระบวนการลดความแอดอัดในเรือนจำของผู้ต้องขังในประเภทต่าง ๆ ผ่านการปล่อยตัวชั่วคราว (ผู้ต้องขังระหว่าง) การคุมประพฤติ (รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ) และการพักการลงโทษทั้งแบบปกติและแบบเหตุพิเศษ

กรอบที่ 3 อาชีพ และการสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่

เป็นการกำหนดแนวทางการสร้างอาชีพ รวมไปถึงการสร้างเรือนจำรูปแบบใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย การฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดของผู้ต้องขัง และความต้องการของผู้ประกอบการ หรือตลาดแรงงาน เพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้เตรียมพร้อมทั้งในด้านสภาพจิตใจและการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดก่อนออกจากเรือนจำ รวมไปถึงการปรับปรุงสภาพเรือนนอนเพื่อลดความแออัดในเรือนจำในเบื้องต้น

กรอบที่ 4 การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ปรับปรุงและบูรณาการการดำเนินการเพื่อบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพทั้งในระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัดและระบบต้องโทษ ปรับปรุงระยะเวลาการตรวจพิสูจน์กำหนดสถานที่หรือมาตรการควบคุมตัวเพื่อรอตรวจพิสูจน์ ระบบติดตามและประเมินผล รวมทั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาหลักสูตรบำบัดรักษา การเพิ่มโอกาสแก่ผู้เสพในการเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู

กรอบที่ 5 การป้องกันยาเสพติด

ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันยาเสพติด โดยการสนับสนุนการป้องกันยาเสพติดระดับชุมชน/หมู่บ้าน การจัดทำโครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้าน / ชุมชน เป็นเป้าหมายระยะแรก

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า เรื่องที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาข้างต้น จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

1) การปรับปรุงเพิ่มพื้นที่นอนในห้องขังทั่วประเทศให้เป็น 2 ชั้น จำนวน 94 แห่ง (รวม 1,906 ห้อง คิดเป็นพื้นที่ที่จะปรับปรุง 103,731.50 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับการใช้พื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังได้ จำนวน 86,442 คน) เพื่อบรรเทาความแออัดในระยะเริ่มแรก

2) การจัดหาเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) จำนวน 30,000 เครื่อง เพื่อรองรับการคุมประพฤติและการพักการลงโทษ

และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดแนวทางการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ