ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday February 4, 2020 17:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดคำนิยาม “การก่อการร้าย” ให้หมายถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดคำนิยาม “พนักงานเจ้าหน้าที่” โดยกำหนดประเภทและระดับตำแหน่งของข้าราชการที่จะปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดให้ก่อนปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้อง เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ สมช. กำหนดด้วย

2. กำหนดมาตรการเชิงป้องกันการก่อการร้าย โดยกำหนดอำนาจทั่วไปสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นบุคคลหรือทรัพย์สิน การค้นบุคคลหรือยานพาหนะที่มี เหตุสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การห้ามเข้า ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ หรือสั่งอพยพ การเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การสะกดรอยผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย การปฏิบัติการอำพราง การเคลื่อนย้ายภายใต้การควบคุม การจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

3. กำหนดมาตรการเชิงปราบปรามการก่อการร้าย โดยกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ สมช. ได้ประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในด้านการก่อการร้ายแล้ว ให้มีอำนาจเพิ่มเติมในการควบคุมการเสนอข่าวหรือข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือหวาดกลัว การออกคำสั่งห้ามบุคคลออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการออกไปเพื่อเตรียมการหรือเข้าร่วมการก่อการร้าย การออกคำสั่งให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการก่อการร้าย และการควบคุมการซื้อ ขาย ใช้ หรือครอบครองอาวุธหรือสิ่งอื่นใดที่อาจนำไปใช้ในการก่อการร้าย ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่เกินความจำเป็น และได้สัดส่วนกับระดับความรุนแรงและผลกระทบต่อประชาชนด้วย

4. กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ เขตอำนาจศาล และสถานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดให้ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และให้การดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม รวมทั้งกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

5. กำหนดบทกำหนดโทษ โดยกำหนดให้ผู้ใดที่เปิดเผยการได้มาซึ่งเอกสาร หรือข้อมูลข่าวสาร ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษหนักเป็นสามเท่าที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ