เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 และเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2565
1. เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 1,090 อัตรา วงเงินรวม 383.88 ล้านบาท
2. เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 จำนวน 1,268 อัตรา วงเงินรวม 531.94 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลภายใต้การกำกับของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สังกัดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 และวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ให้ความเห็นชอบโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรยารี (เดิม คือ สำนักวิชาแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อรองรับการผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ต่อมา เมื่อมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนการพัฒนา เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อเทียม ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายกรอบอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งขอรับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 915.82 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สถานการณ์ปัจจุบัน
- สามารถให้บริการผู้ป่วยในได้ 120 เตียง
- เปิดรับผู้ป่วยนอก รักษาโรคทั่วไปและผู้ป่วยฉุกเฉินรวมทั้งให้บริการแพทย์เฉพาะทาง
- มีผู้ป่วยนอกประมาณ 1,093 คนต่อวัน และรองรับผู้ป่วยจากเขตสุขภาพที่ 9
- รองรับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ และสร้างงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในฐานะเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เดิมมีเพียงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
เป้าหมายที่ต้องการจะเป็นตามแผนอัตรากำลัง
- ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับมาตรฐาน (ระดับ S) ขนาด 250 เตียงขึ้นไป
- ขยายการให้บริการผู้ป่วยนอกเป็น 2,000 คนต่อวัน
- เพิ่มประสิทธิภาพและลดความแออัดของการบริการของเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ : เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง-พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (ด้านหลอดเลือดสมอง)
- พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ รองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา
- พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อเทียม ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2563
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม) 286 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหาร บริหารยุทธศาสตร์) 205 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 491 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 162.12 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2564
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม) 239 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหาร บริหารยุทธศาสตร์) 133 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 372 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 134.04 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2565
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม) 150 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหาร บริหารยุทธศาสตร์) 77 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 227 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 87.72 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / รวมทั้งสิ้น
สายวิชาชีพ(ภารกิจด้านแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม) 675 อัตรา
สายสนับสนุน(ภารกิจด้านงานบริหาร บริหารยุทธศาสตร์) 415 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 1,090 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 383.88 ล้านบาท
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
สถานการณ์ปัจจุบัน
- เป็นโรงพยาบาลนำร่อง มีโครงสร้างอาคารพร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมที่จะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 120 เตียง แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลมีบุคลากรเพียง 30 อัตรา
- เป็นสถานที่ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาสำนักวิชาอื่น ๆ ในระบบวิทยาการสุขภาพ การสร้างงานวิจัยทั้งทางคลินิกและงานวิจัยประยุกต์
- รองรับผู้ป่วยในระดับตติยภูมิในเขตภาคใต้ตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
เป้าหมายที่ต้องการจะเป็นตามแผนอัตรากำลัง
- ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับมาตรฐาน (ระดับ S) เป็น 419 เตียง ในปี 2564
- สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 คน
- ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด) ประมาณปีละ 2,950 คน
- ดำเนินการวิจัยทั้งทางคลินิกและงานวิจัยประยุกต์ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวน 5 ศูนย์ (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยโรคเมลิออยโดลิส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Innovation and Health Products และศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอาง)
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2563
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การพยาบาลชุมชน รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เภสัชกรรม ทันตกรรม) 274 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหารการพัฒนาระบบบริการ) 134 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 408 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 157.43 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2564
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การพยาบาลชุมชน รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เภสัชกรรม ทันตกรรม) 334 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหารการพัฒนาระบบบริการ) 68 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 402 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 175.52 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / ปีงบประมาณ 2565
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การพยาบาลชุมชน รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เภสัชกรรม ทันตกรรม) 424 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหารการพัฒนาระบบบริการ) 34 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 458 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 198.99 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / รวมทั้งสิ้น
สายวิชาชีพ (ภารกิจด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การพยาบาลชุมชน รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เภสัชกรรม ทันตกรรม) 1,032 อัตรา
สายสนับสนุน (ภารกิจด้านงานบริหารการพัฒนาระบบบริการ) 236 อัตรา
รวมอัตรากำลังที่เสนอขอ 1,268 อัตรา
งบประมาณที่เสนอขอ 531.94 ล้านบาท
สำหรับแผนอัตรากำลังของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอมานั้น นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์) และเขตสุขภาพที่ 11 ภาคใต้ตอนบน (จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร) ในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพแล้วยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (ระยะ 20 ปี) ด้านสาธารณสุขที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่เป็นเลิศด้วยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ตลอดจนการส่งเสริมขีดความสามารถในการดำเนินพันธกิจหลักของโรงพยาบาลสังกัดสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งส่งสริมการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563