1. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government – G to G) เพื่อให้การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎระเบียบ พณ. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง นบข. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีมติ ดังนี้
1.1 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government : G to G) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 รับทราบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ”
1.2 มอบหมายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาหรือเข้าร่วมการประมูลแบบ G to G และลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวในนามรัฐบาลไทย ตามแนวทางปฏิบัติฯ ข้อ 1.1
1.3 มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเพื่อปรับปรุงหรือจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อตามสัญญา G to G
1.3.1 กรณีรัฐบาลมีข้าวในสต็อกชนิดที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยใช้ข้าวในสต็อกของรัฐปรับปรุงและส่งมอบข้าวตามสัญญา หากข้าวในสต็อกของรัฐไม่เพียงพอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาข้าวเพิ่มเติมและส่งมอบข้าวตามสัญญา
1.3.2 กรณีรัฐบาลไม่มีข้าวในสต็อกชนิดที่เป็นความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาและส่งมอบข้าวตามสัญญา
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางและเงื่อนไขที่ นบข. หรือผู้ที่ นบข. มอบหมายได้ให้ความเห็นชอบ และให้กรมการค้าต่างประเทศ พณ. ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตามแบบข้อตกลงที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเพื่อส่งมอบข้าวตามสัญญา G to G
1.4 มอบหมายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการและเลขานุการ นบข. เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขาย การเจรจาต่อรองราคา การตกลงเงื่อนไขในสัญญารวมทั้งแนวทางจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อ ก่อนดำเนินการ
1.5 การเจรจาตกลงราคาและส่งมอบข้าวให้ COFCO Corporation (COFCO) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณ 300,000 ตัน ที่เหลือ ภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับ COFCO ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 โดยให้ดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.4
1.6 มอบหมาย พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
2. แนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government : G to G) มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
2.1 หลักการสำคัญในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
2.1.1 การเจรจาและทำสัญญา รัฐบาลของประเทศคู่เจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่หน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อบางประเทศที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียวโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในวงการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศจะทราบดีว่าคือหน่วยงานใด กรณีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อเป็นหน่วยงานนอกเหนือจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อไม่เคยซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทยมาก่อน มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวแบบ G to G จากรัฐบาลไทย กรมการค้าต่างประเทศจะต้องประสานสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย
2.1.2 การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด Letter of Credit (L/C) และการโอนเงินระหว่างประเทศ (Telegraphic Transfer : T/T) เป็นต้น ซึ่งจะต้องสามารถตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว
2.1.3 การส่งมอบข้าว รัฐบาลไทยจะต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญคือใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแบบ อ.2 (สินค้าข้าว) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ โดยต้องระบุว่าเป็นการส่งออก “ข้าวรัฐบาล” เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกตามประกาศ พณ.
2.2 ขั้นตอนในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
การซื้อขายข้าวแบบ G to G โดยทั่วไปจะเริ่มจากรัฐบาลประเทศผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยโดยมีหนังสือถึง พณ. หรือกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง หรือมีหนังสือผ่านทาง กต. หรือช่องทางการทูต ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศสามารถประสานสอบถาม กต. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อีกทางหนึ่ง เมื่อกรมการค้าต่างประเทศได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วจะประสานสอบถามรายละเอียด อาทิ ชนิดข้าว ปริมาณ และเงื่อนไขการส่งมอบ เป็นต้น กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อเบื้องต้นก่อนและจะเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาหรือกรอบการเสนอราคาประมูลขายข้าวก่อนดำเนินการต่อไป
ในการเจรจาซื้อขายข้าว รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะเจรจาภายใต้กรอบที่ได้รับความเห็นชอบ จนกระทั่งสามารถตกลงราคาและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ในร่างสัญญาได้แล้ว ซึ่งข้อกำหนดหลักในสัญญาประกอบด้วย ชนิดข้าว คุณลักษณะข้าว ปริมาณ ราคา เงื่อนไขการส่งมอบ กำหนดส่งมอบ การชำระเงิน ข้อกำหนดเกี่ยวกับกระสอบบรรจุข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว การระงับข้อพิพาทและกฎหมายที่บังคับใช้ เป็นต้น หลังจากนั้นกรมการค้าต่างประเทศจะต้องเสนอร่างสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามต่อไป สำหรับการขายข้าวโดยวิธีการเข้าร่วมประมูลเสนอราคา รายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาจะเป็นไปตามข้อกำหนดการประมูล (Terms of Reference - TOR) ของหน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ และกรมการค้าต่างประเทศจะเสนอผลการเจรจาหรือผลการประมูลเสนอราคาขายข้าวให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบการตกลงราคาและทำสัญญาก่อนจะลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวต่อไป
2.3 การเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G
ข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลหลายประเทศ การเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในสัญญา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลประเทศผู้ซื้อรายอื่นยังทำให้รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาได้ ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G บางส่วน เช่น ชนิดข้าว ปริมาณ และกำหนดส่งมอบ เป็นต้น ที่สามารถเปิดเผยได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดในสัญญาและไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563