คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020 Ministerial Declaration) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างปฏิญญาดังกล่าว ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (International Conference on Nuclear Security : Sustaining and Strengthening Efforts – ICONS 2020) ตั้งแต่วันที่ 10 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้รับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
อว. รายงานว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020) ระหว่างวันที่ 10 – 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีระดับสูงในการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ แนวปฏิบัติในปัจจุบันและมุมมองต่อพัฒนาการในอนาคตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระดับสากลและของ IAEA รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ และผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การดำเนินงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ทั้งภายในประเทศและในระดับสากล โดยการประชุม ICONS 2020 ประกอบด้วย (1) การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segment) ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และ (2) การประชุมเชิงเทคนิค (Technical Session) ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จำนวน 4 ราย เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการและสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี จะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (ICONS 2020 Ministerial Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐสมาชิกที่จะย้ำความมุ่งมั่นของรัฐภาคีต่อการสร้างความยั่งยืนและเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของวัสดุนิวเคลียร์ วัสดุกัมมันตรังสี รวมถึงสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี สรุปได้ ดังนี้
1. ย้ำถึงเป้าหมายร่วมกันของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การลดอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และตระหนักว่าความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ช่วยส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
2. ตระหนักถึงบทบาทของ IAEA ที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐสมาชิกในการสร้างและพัฒนาระบอบความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ภายในที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์
3. ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และคอมพิวเตอร์ของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
4. ย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าเป็นภาคีอย่างเต็มรูปแบบและการอนุวัติการอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และที่แก้ไขเพิ่มเติมของรัฐภาคี
5. ย้ำความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการลักลอบขนถ่ายวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีอื่น ๆ และทำให้มั่นใจว่าวัสดุเหล่านั้นจะไม่สามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563