คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 จำนวน 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
1. ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้
1.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 และ กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
1.2 กำหนดให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
1.3 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
1.4 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 และข้อ 1.3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง
1.5 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.4 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 และข้อ 1.4 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
1.6 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 1.5 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 ข้อ 1.4 และข้อ 1.5 แล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท เว้นแต่กรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน (เดิมมีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่นายจ้างต้องจ่าย กรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาไว้ไม่เกิน 2,000,000 บาท)
1.7 กำหนดให้การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1.2 ข้อ 1.3 ข้อ 1.4 ข้อ 1.5 หรือข้อ 1.6 หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
2. ร่างกฎกระทรวงค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย ดังนี้
2.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดการจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558
2.2 ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท
(2) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท
(3) ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการไม่เกิน 24,000 บาท
2.3 ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หากเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2.2 (2) ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา
2.4 ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพตามข้อ 2.2 (4) ให้จ่ายได้ตามหลักสูตรและอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. …. กำหนดจำนวนเงินค่าทำศพที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน โดยกำหนดอัตราค่าทำศพในอัตรา 40,000 บาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563