คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป และให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติ รวม 3 ฉบับนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
เรื่อง / สาระสำคัญ
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด
- กำหนดให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
- เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 21 ฉบับ
2. ตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ
- กำหนดให้ข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ
2. ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดมีสาระสำคัญ ดังนี้
เรื่อง / สาระสำคัญ
1. การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
- กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว
- กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ติดตาม ดูแล และสนับสนุนให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว
- กำหนดหน้าที่และอำนาจของ สำนักงาน ป.ป.ส. ให้เป็นหน่วยงานกลางในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
2. การควบคุมยาเสพติด
- กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย
- แบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท และแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ออกเป็น 4 ประเภท
- กำหนดการอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต และการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือประกาศ
- กำหนดมาตรการควบคุมพิเศษในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหา และควบคุมยาเสพติด โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. อาจกำหนดพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด
3. การตรวจสอบทรัพย์สิน
- กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
4. กองทุน
- กำหนดให้มีกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการบริหารและการดำเนินการของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด
5. การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
- กำหนดให้มีคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมถึงวางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม และช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้
- กำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพ ซึ่งเข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว พ้นจากความผิดฐานดังกล่าว โดยผู้กระทำความผิดสามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัด รักษาได้
- กำหนดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม
6. ความผิดและบทกำหนดโทษ
- กำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รวมถึงโทษสำหรับความผิดดังกล่าว
3. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
เรื่อง / สาระสำคัญ
1. ผู้รักษาการ
- เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
2. เพิ่มหน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
- เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด มีบุคคลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เนิ่นช้าไป บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ทำลาย หรือสูญหาย
- ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่
- ค้นหรือจับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
- ยึดหรืออายัดยาเสพติด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
- สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
- ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
- ควบคุมตัวผู้ถูกจับกรณีกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
3. อุทธณณ์ และฎีกา
- กำหนดให้จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ ยื่นคำขออนุญาตฎีกา และยื่นฎีกา
4. การบังคับโทษปรับ
- ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับทางปกครอง (นำไปกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563