โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข่าวการเมือง Tuesday February 18, 2020 17:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,776 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,332 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 444 ล้านบาท

2. เห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 1,332 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

3. ให้ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เรื่อง แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ กฟภ. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. คณะกรรมการ กฟภ. ในการประชุม ครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุน 1,776 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศจำนวน 1,332 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 444 ล้านบาท และเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 1,332 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการ โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการ กู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

2. กฟภ. ได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสรุปสาระสำคัญของโครงการได้ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์

2.1.1 พัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง

2.1.2 เพื่อลดปัญหาในการปฏิบัติการและบำรุงรักษา ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย

2.2 เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2.3 ปริมาณงาน

2.3.1 ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 เควี จากเกาะพะงันไปยังเกาะเต่า จำนวน 1 วงจร ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ระยะทางประมาณ 45 วงจร – กิโลเมตร

2.3.2 ก่อสร้างระบบจำหน่าย ระยะทางประมาณ 21 วงจร – กิโลเมตร

2.3.3 ติดตั้งอุปกรณ์ยกระดับแรงดัน (AVR) จำนวน 2 ชุด

2.4 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2564 - 2566)

2.5 แผนการดำเนินงาน ตามแผนงานโครงการจะดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2566 โดยปีแรกจะเป็นการเตรียมดำเนินการ ส่วนปีหลังจะเป็นการดำเนินการก่อสร้างและประเมินผล

2.6 ผลตอบแทนของโครงการ

ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return: FIRR)

อัตราผลตอบแทน (IRR) (ร้อยละ) -5.30

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ล้านบาท -2,053

อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) 0.65

ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Internal Rate of Return: EIRR)

อัตราผลตอบแทน (IRR) (ร้อยละ) 36.59

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ล้านบาท 6,294

อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) 2.22

2.7 เงินลงทุน จำนวน 1,776 ล้านบาท ประกอบด้วย (หน่วย : ล้านบาท)

รายละเอียด / ปริมาณงาน

สายเคเบิลใต้น้ำ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร / 45 วงจร – กิโลเมตร

ก่อสร้างระบบจำหน่าย / 21 วงจร – กิโลเมตร

อุปกรณ์ยกระดับแรงดัน / 2 ชุด

รายละเอียด / เงินลงทุน

สายเคเบิลใต้น้ำ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร / 1,686

ก่อสร้างระบบจำหน่าย / 38

อุปกรณ์ยกระดับแรงดัน / 52

รวมทั้งสิ้น 1,776

2.8 แหล่งเงินทุน (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงิน / วงเงิน

  • เงินกู้ในประเทศ (ร้อยละ 75) / 1,332
  • เงินรายได้ กฟภ. (ร้อยละ 25) / 444

รวม 1,776

2.9 แผนการใช้เงินรายปี (หน่วย : ล้านบาท)

ปี / เงินกู้ในประเทศ

2564 / 133

2565 / 1,066

2566 / 133

รวม 1,332

ปี / เงินรายได้ กฟภ.

2564 / 45

2565 / 354

2566 / 45

รวม / 444

ปี / รวม

2564 / 178

2565 / 1,420

2566 / 178

รวม / 1,776

หมายเหตุ

โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2558 - 2560) แต่เนื่องจากการดำเนินการขอความเห็นชอบโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้าจากกรอบระยะเวลาดำเนินการ กฟภ. จึงขอปรับช่วงระยะเวลาดำเนินการใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบันเป็น 3 ปี (2564 – 2566) โดยยังคงมีผลประโยชน์ และผลตอบแทนในการดำเนินโครงการตามรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ