มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา (คณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา)

ข่าวการเมือง Tuesday February 18, 2020 18:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะประธานกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา เสนอดังนี้

1. รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา

2. รับทราบการดำเนินงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบทุกสัปดาห์ จนกว่าจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแล้วเสร็จ

สาระสำคัญของเรื่อง

โดยที่คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณารวบรวมข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 โดยสรุปได้ดังนี้

1. ข้อมูลพื้นฐานผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์

1.1 ผู้เสียชีวิต จำนวน 29 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ 1 ราย) จำแนกเป็น

เพศ

  • ชาย 20 ราย
  • หญิง 9 ราย

อายุ

  • ต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2 ราย
  • อายุ 15-29 ปี จำนวน 4 ราย
  • อายุ 30-59 ปี จำนวน 22 ราย
  • อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1 ราย

อาชีพ

  • ตำรวจ 3 ราย
  • ทหาร 3 ราย
  • ข้าราชการครู 1 ราย
  • ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ 2 ราย
  • ประชาชน 20 ราย (มีเด็กและเยาวชน 3 ราย)

การให้ความช่วยเหลือ

  • พิจารณาให้ความช่วยเหลือ 27 ราย
  • สำหรับ 2 ราย ที่เป็นคู่กรณีผู้ก่อเหตุ อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน

หมายเหตุ : ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 7 ราย (ตำรวจ 3 ราย ทหาร 1 ราย ตำรวจอาสา 1 ราย และประชาชน (พลเมืองดี) 2 ราย)

1.2 ผู้บาดเจ็บ จำนวน 57 ราย (ไม่รวมคู่กรณีผู้ก่อเหตุ 1 ราย) จำแนกเป็น

เพศ

  • ชาย 33 ราย
  • หญิง 24 ราย

อายุ

  • ต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 6 ราย
  • อายุ 15-29 ปี จำนวน 20 ราย
  • อายุ 30-59 ปี จำนวน 29 ราย
  • อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 2 ราย

อาชีพ

  • ตำรวจ 8 ราย
  • ทหาร 3 ราย
  • ข้าราชการครู 1 ราย
  • ประชาชน 46 ราย (มีเด็กและเยาวชน 6 ราย)

2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา

มาตรการช่วยเหลือเยียวยา - รายละเอียด

1. ด้านการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บตามสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย และความช่วยเหลืออื่น ๆ

1.1 เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่

(1) เงินช่วยเหลือตามกฎหมายจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) สถาบันการเงิน และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

(2) เงินช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ข้าราชการส่วนบุคคล

(3) เงินช่วยเหลือจากสวัสดิการของหน่วยงานต้นสังกัดและเงินบริจาคผ่านจังหวัดนครราชสีมา

(4) การช่วยเหลืออื่นจากสถาบันการเงิน และบริษัทประกันภัย ฯลฯ

1.2 ประชาชนทั่วไป

(1) เงินช่วยเหลือตามกฎหมายจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ พม. ยธ. นร. กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

(2) เงินช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคุล

(3) เงินช่วยเหลือจากเงินบริจาคผ่านจังหวัดนครราชสีมา

(4) การช่วยเหลืออื่นจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย ฯลฯ

2. ด้านการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีทรัพย์สินเสียหาย

2.1 ส่วนราชการ : หน่วยงานเจ้าของทรัพย์สินดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2.2 ประชาชนทั่วไป : จังหวัดนครราชสีมาอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายของยานพาหนะ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

2.3 ผู้ประกอบการ

(1) ศูนย์การค้า Terminal 21: จังหวัดนครราชสีมาอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายและอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอรับสินไหมทดแทนจากการประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงัก

(2) ร้านค้าย่อย : จังหวัดนครราชสีมาอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายของทรัพย์สินเพื่อขอรับการช่วยเหลือต่อไป

3. ด้านสาธารณสุข

3.1 การรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งหมด รวมทั้งดูแลด้านสุขภาพผู้บาดเจ็บในระยะต่อไป

3.2 การฟื้นฟูสุขภาพจิต สธ. โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทีม MCATT ลงพื้นที่สำรวจและประเมินสภาวะสุขภาพจิตระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 2,093 คน จำแนกผลการประเมินได้ ดังนี้

(1) กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้บาดเจ็บ และตัวประกัน เข้ารับการประเมินจำนวน 310 คน พบเป็นผู้มีภาวะเครียดต้องติดตามต่อเนื่อง 118 คน (ร้อยละ 38.06) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาทางจิตใจที่มีความรุนแรงได้ในระยะยาว ได้ให้การบำบัดโดยการทำกิจกรรมคลายเครียดและระบายความรู้สึก

(2) กลุ่มผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ที่ติดค้างในสถานที่เกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เข้ารับการประเมินจำนวน 699 คน พบเป็นผู้มีภาวะเครียดต้องติดตามต่อเนื่อง 114 คน (ร้อยละ 16.31) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาทางจิตใจที่มีความรุนแรงได้ในระยะยาว ได้ให้การบำบัดโดยการทำกิจกรรมคลายเครียดและระบายความรู้สึก

(3) ประชาชนทั่วไปผู้ได้รับข้อมูลข่าวสารความรุนแรงฯ เข้ารับการประเมินจำนวน 1,084 คน พบเป็นผู้มีภาวะเครียดต้องติดตามต่อเนื่อง 42 คน (ร้อยละ 3.87)

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะได้ดำเนินโครงการ Strong Korat เพื่อติดตามดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการติดตามพฤติกรรมของเด็กเล็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซึ่งอาจมีพฤติกรรมถดถอยในระยะยาว

3.3 การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต พม. ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และสอบถามความต้องการความช่วยเหลือเพื่อประเมินสภาพปัญหาและพิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัว การฝึกอาชีพ การกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ และสิ่งของจำเป็น/เครื่องอุปโภคบริโภค ในการดำรงชีพ

4. ด้านการสนับสนุนอื่น ๆ

4.1 การกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด

(1) พณ. จัดกิจกรรมออกบูธให้คำปรึกษาแนะนำด้านการจัดทำบัญชีและการวางแผนทางภาษี และร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรให้คำปรึกษาด้านการเงิน รวมทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษเพื่อฟื้นฟูกิจการ ในระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์การค้า Terminal 21

(2) พณ. ขยายเวลาการนำส่งงบการเงินให้นิติบุคคลที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นระยะเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ครบระยะเวลาตามกฎหมาย

(3) พณ. กระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มยอดขายให้ผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาในระยะยาว ขอให้หน่วยงานเชิญชวนให้มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น เช่น การประชุมสัมมนา การจัดงานจำหน่ายสินค้า และการแข่งขันกีฬา ฯลฯ

4.2 การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนในจังหวัด : จัดกิจกรรมจิตอาสา Big Cleaning Day และกิจกรรมทำบุญของจังหวัด ฯลฯ

5. ด้านการอำนวยการ ติดตามผล และประชาสัมพันธ์

5.1 การอำนวยการและติดตามผลการดำเนินงาน

(1) จังหวัดนครราชสีมาเป็นหน่วยประสานการขอรับความช่วยเหลือภาพรวมในพื้นที่

(2) หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือมอบหมายผู้บริหารระดับสูงกำกับติดตามและเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่รับผิดชอบ

(3) สำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ประสานติดตามและเร่งรัดการช่วยเหลือรวมทั้งรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อประสานการช่วยเหลือต่อไป

5.2 การประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลการช่วยเหลือในภาพรวมให้กับสาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และประสานการประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ

3. ข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา

3.1 การผ่อนปรนด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : กค.)

3.2 การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาแก่บุตรของผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ (หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ศธ. พม.)

3.3 การป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : พม. ศธ. สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

3.4 การนำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรง ควรมีแนวทางควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด โดยควรให้นำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางลบด้านจิตใจของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และประชาชนทั่วไป (หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ