คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิษณุโลกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มดำเนินการศึกษากำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเมืองเก่าพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้การกำหนดเขตพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน รวมทั้งวัดที่มีความสำคัญในพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก เนื่องจากเมืองเก่าพิษณุโลกจัดอยู่ในเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจน เช่น เป็นชุมชนโบราณที่มีความสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนานเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนล่างและมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดเมืองหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2. ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเลขานุการ] ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบ ดังนี้
2.1 ให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ตามขอบเขตพื้นที่ตามที่ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับจังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ 2546 และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป
2.2 ให้จังหวัดพิษณุโลก พิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไปและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลก ครอบคลุมอาณาบริเวณกำแพงเมือง คูเมืองพิษณุโลก พระราชวังจันทน์ วัด และโบราณสถานสำคัญ โดยมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ (Zoning) ดังต่อไปนี้
พื้นที่หลัก เนื้อที่รวมประมาณ 0.553 ตารางกิโลเมตร (345.30 ไร่)
พื้นที่ 1-1 คือพระราชวังจันทน์ และโบราณสถานสำคัญ เช่น สระสองห้อง วัดโพธิ์ทอง วัดพระศรีสุคต และวัดวิหารทอง รวมไปถึงพื้นที่อาคารศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน เนื้อที่ประมาณ 0.416 ตารางกิโลเมตร (259.86 ไร่)
พื้นที่ 1-2 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นบริเวณวัดและโบราณสถานสำคัญของเมือง ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ เนื้อที่ประมาณ 0.137 ตารางกิโลเมตร (85.44 ไร่)
พื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ พื้นที่บริเวณภายในขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าพิษณุโลกทั้งหมดนอกเหนือจากพื้นที่หลัก มีเนื้อที่รวมประมาณ 2.277 ตารางกิโลเมตร (1,423.125 ไร่)
4. กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วยแนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับเขตพื้นที่สรุปได้ ดังนี้
4.1 แนวทางทั่วไป (สำหรับพื้นที่หลักและพื้นที่ต่อเนื่อง) ดังนี้
แนวทาง
1. การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์
การดำเนินการ
การประชาสัมพันธ์โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การพบปะพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น และจัดกิจกรรมเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง
2. การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
การดำเนินการ
จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบการสร้างจิตสำนึกทางสังคมโดยการให้ความรู้ สร้างการรับรู้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว กลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ชุมชน และเป็นแบบแผนของทั้งเมือง
3. การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น
การดำเนินการ
จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ ฟื้นฟูงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต
การดำเนินการ
จัดให้มีบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และธุรกรรมบริการที่ครบสมบูรณ์
5. การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ
การดำเนินการ
คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบหรือระงับยับยั้งกิจกรรมการพัฒนาก่อสร้างที่จะเป็นผลกระทบต่อโบราณสถานและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อป้องกันกรณีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่บดบังโบราณสถาน
6. การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม
การดำเนินการ
ส่งเสริมพัฒนาทางเดินเท้า การใช้จักรยาน และพาหนะทางเลือกในเขตเมืองเก่า เพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงและสร้างมลภาวะ
7. การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ
การดำเนินการ
ขยายบทบาทองค์กรปกครองท้องถิ่นในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมือง ในการดูแลมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของสิ่งก่อสร้างในย่านเมืองเก่า และส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาสภาพภายนอกของอาคารอย่างต่อเนื่อง
4.2 แนวทางสำหรับเขตพื้นที่ ดังนี้
4.2.1 พื้นที่หลัก
แนวทาง
1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การดำเนินการ
1.1 ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนที่ไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน
1.2 ที่ดินของรัฐและเอกชนควรให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม
การดำเนินการ
รักษาสภาพแวดล้อมโดยกำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ แบบ รูปทรงของอาคารให้สอดคล้องและกลมกลืนหรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่ พิจารณาการใช้วัสดุและสีของอาคารเพื่อสร้างบรรยากาศการเข้ามาถึงบริเวณสำคัญของเขตพื้นที่เมืองเก่า
3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง
การดำเนินการ
3.1 ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบาเพื่อลดมลภาวะ เช่น รถจักรยาน รถลากจูง
3.2 ลดปริมาณการจราจร ห้ามรถบรรทุกหนักและรถยนต์ขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่
3.3 จำกัดการก่อสร้างลานจอดรถขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นมลภาวะทางสายตาที่ขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมเมืองเก่า
4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์
การดำเนินการ
4.1 สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างตำแหน่งองค์ประกอบเมือง โบราณสถานและพื้นที่เปิดโล่งในเมือง โดยจัดให้มีทางคนเดิน ทางจักรยาน หรือพาหนะขนาดเบา
4.2 จัดทางคนเดินที่ปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์สาธารณูปโภคอำนวยความสะดวก เช่น โคมไฟ ถังขยะ ป้ายบอกทาง
5. ด้านการบริหารและการจัดการ
การดำเนินการ
5.1 ให้จังหวัดจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ
5.2 ให้จังหวัดออกประกาศ เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่า ที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในบริเวณเมืองเก่า เพื่อให้ส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าโดยผ่านสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
5.3 จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าและคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน
5.4 วางแนวนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองเก่า
5.5 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชน
4.2.2 พื้นที่ต่อเนื่อง
แนวทาง
1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การดำเนินงาน
1.1 ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน
1.2 ที่ดินของรัฐและเอกชนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรมการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น และต้องส่งเสริมพื้นที่หลัก
2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม
การดำเนินงาน
2.1 พิจารณาวางข้อกำหนดความสูงและแนวถอยร่นอาคาร รวมทั้งขนาดมวลอาคารเพื่อรักษาสัดส่วนที่เหมาะสมของขนาดอาคารที่ไม่ทำลายแหล่งศิลปกรรมในพื้นที่เมืองเก่า
2.2 พิจารณาการใช้วัสดุและสีของอาคารเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในเขตพื้นที่เมืองเก่า
2.3 พิจารณาการใช้ประโยชน์อาคารเก่าที่ยังคงสภาพหรือสามารถฟื้นฟูได้ในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้และการท่องเที่ยว
3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง
การดำเนินงาน
3.1 สร้างที่จอดรถในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นจุดเปลี่ยนระบบการสัญจรเข้าถึงพื้นที่หลักและส่วนอื่น ๆ ของเมือง เพื่อลดจำนวนรถยนต์ที่จะเข้าไปสร้างความคับคั่งของการจราจร รวมทั้งผลกระทบด้านมุมมองและการเกิดมลภาวะในพื้นที่เมืองเก่า
3.2 ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบา เช่น รถจักรยาน และรถลากจูง เป็นต้น
4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์
การดำเนินงาน
4.1 เส้นทางหลักเข้าสู่เมืองเก่า ควรสร้างเอกลักษณ์และจุดหมายตาที่ระบุการมาถึงย่านเมืองเก่า รวมถึงการเปิดมุมมอง (Vista) ตามแนวเส้นทางสัญจรเข้าสู่บริเวณเมืองเก่า
4.2 ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ตามแนวเส้นทางเข้าสู่เมือง พัฒนาภูมิทัศน์ สร้างร่มเงาตามแนวถนน ทางเท้า สร้างจุดหมายตา โดยเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองเก่า หรือที่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก คือ ต้นปีบ
4.3 ป้ายโฆษณาและป้ายกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่เหมาะสมเป็นปัญหาต่อทัศนียภาพ ควรจำกัดขนาดและรูปลักษณ์ของป้ายประเภทต่าง ๆ ส่งเสริมการออกแบบป้ายที่ดีมีเอกลักษณ์ด้วยการประกาศเกียรติคุณ
4.4 เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวจราจรให้มีสีและสัมผัสที่แตกต่างจากถนนทั่วไปเพื่อให้รู้สึกถึงการมาถึงเมืองเก่า
4.5 จัดให้มีอุปกรณ์สาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกและที่มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับความเป็นเมืองเก่า
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2563