คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ได้แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำผ่านวัตถุอันตรายโดยเพิ่มบทนิยาม คำว่า “นำผ่าน” เพื่อให้การควบคุมและกำกับดูแลการนำผ่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้วัตถุอันตรายที่จะนำผ่านราชอาณาจักรได้ คือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เช่น น้ำมันตะไคร้หอม [(citronella oil)] ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น] แคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ [(calcium hypochlorite) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เช่น ฟอร์มัลดีไฮต์ [(formaldehyde) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] แนฟทาลีน [(naphthalene) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น หรือเพื่อประโยชน์ในการดับกลิ่น] และวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เช่น กรดอะซีติก [(acetic acid) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์แก่การควบคุม ป้องกัน กำจัด เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิต พืช หรือสัตว์อื่น] กรด [(acid) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานผลิตอาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดหรือการแก้ไขการอุดตันของท่อหรือทางระบายสิ่งปฏิกูล] เท่านั้น และห้ามนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เช่น พาราควอตไดคลอไรด์ (paraquat dichloride) ฟอสฟอรัส (phosphorus) โดยการนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในแต่ละครั้ง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เมื่อรับแจ้งแล้ว จะออกใบนำผ่านให้เป็นหลักฐานการรับแจ้ง สำหรับการนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่ออนุญาตแล้ว จะออกใบนำผ่านให้เป็นหลักฐานการอนุญาต
2. หน่วยงานผู้รับผิดชอบภายใต้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมธุรกิจพลังงาน ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบนำผ่านวัตถุอันตรายแต่ละชนิด โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบนำผ่านสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในอัตราค่าธรรมเนียมเท่ากันสำหรับใบนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คิดค่าธรรมเนียมเป็นสองเท่าของวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2
3. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น และได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบสารสนเทศของหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามข้อ 2. ด้วยแล้ว
4. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ในคราวประชุมครั้งที่ 39-7/2562 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบนำผ่านสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 โดยคิดตามปริมาณการนำผ่านในแต่ละครั้ง
ปริมาณการนำผ่านในแต่ละครั้ง / วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 (ฉบับละ/บาท)
ไม่ถึงสิบเมตริกตัน / 500
ตั้งแต่สิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงห้าสิบเมตริกตัน / 1,000
ตั้งแต่ห้าสิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตริกตัน / 1,500
ตั้งแต่หนึ่งร้อยเมตริกตันขึ้นไป / 3,000
ปริมาณการนำผ่านในแต่ละครั้ง / วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ฉบับละ/บาท)
ไม่ถึงสิบเมตริกตัน / 1,000
ตั้งแต่สิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงห้าสิบเมตริกตัน / 2,000
ตั้งแต่ห้าสิบเมตริกตันขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตริกตัน / 3,000
ตั้งแต่หนึ่งร้อยเมตริกตันขึ้นไป / 6,000
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2563