1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ
2. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบแนวทางในการเสนอคำของบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565
3. ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
4. ให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ยธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประสาน สนับสนุน ติดตามประเมินผลเพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 – 2565) ไปสู่การปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง
1. กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 - 2565) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติแล้ว และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบแนวทางในการเสนอคำของบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ให้สำนักงบประมาณใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประสาน สนับสนุน ติดตาม ประเมินผลเพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง (ร่าง) แผนแม่บทฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565)
วิสัยทัศน์ การบริหารงานยุติธรรมมีธรรมาภิบาลและทันสมัย สร้างสังคมไทยเคารพกฎหมาย มีความปลอดภัยและสงบสุข
พันธกิจ เช่น เสริมสร้างการป้องกันการกระทำผิดโดยสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความยุติธรรมและกฎหมาย ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อใช้ระงับข้อพิพาทหรือยุติความขัดแย้งโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกและง่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนโดยการพัฒนากฎหมายและระบบบริหารงานยุติธรรม
เป้าหมายภาพรวม การบริหารงานยุติธรรมที่มีธรรมาภิบาล และโปร่งใส และสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1
การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2
การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาททั้งทางอาญา ทางแพ่งและพาณิชย์และทางปกครอง
ยุทธศาสตร์ที่ 3
การพัฒนากฎหมายและระบบบริหารงานยุติธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4
พัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด
ยุทธศาสตร์ที่ 5
การขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล
โดย (ร่าง) แผนแม่บทฯ มีแนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผลสรุปได้ ดังนี้
Plan
- สร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
- ผลักดันให้นำประเด็นการพัฒนา โครงการกิจกรรมภายใต้ร่างแผนแม่บทฯ บรรจุในแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานและแผนพัฒนาจังหวัด
Do
- ใช้กลไกยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- ใช้กพยช. และ กพยจ. เพื่อขับเคลื่อน
- ใช้กลไกองค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะประชารัฐ
Check
- ติดตามประเมินผลทั้งในมิติของการนำร่างแผนแม่บทฯ ไปใช้และการประเมินผลสำเร็จของแผน
Act
- ประเมินเนื้อหาของร่างแผนแม่บทฯ เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสม
ซึ่งร่างแผนแม่บทฯ มีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจงาน ด้านการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมครอบคลุมทั้งอาญา ทางแพ่งและพาณิชย์ และทางปกครอง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
2. (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) จัดเป็นแผนระดับที่ 3 ซึ่งมติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้เสนอแผนระดับที่ 3 ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนแม่บทดังกล่าว และให้ดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2563