คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาดูไบ (Dubai Declaration) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดหลักการ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 พร้อมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าวโดยไม่มีการลงนาม ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
ได้นำหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2562 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้ที่ประชุมฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD รับรองร่างปฏิญญาฯ ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศปลายทาง (ผู้รับแรงงาน) และประเทศต้นทาง (ผู้ส่งแรงงาน) ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านแรงงานภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานและความโปร่งใสของการจัดหางาน (2) การพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับรองมาตรฐานฝีมือ (3) การพัฒนางานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบ ความท้าทาย และโอกาสของงานในอนาคต (Future of Works) ที่จะเกิดขึ้น (4) การพัฒนาความร่วมมือให้มากขึ้นในด้านการจัดมาตรฐานความสามารถของแรงงานทำงานบ้าน (Domestic Worker Competency Standards) และ (5) การส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในการผลักดันในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานก้าวไปสู่การประชุมบนเวทีโลก โดยการรับรองเอกสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะ การเดินทางไปทำงานในประเทศผู้รับแรงงานที่เป็นสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ ADD ให้มีประสิทธิภาพและ เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2563