คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงความปลอดภัยในการดำเนินการ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดนิยามคำว่า “สถานประกอบการ” “การหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระยะยาว” “ผู้รับใบอนุญาต” และ “คณะกรรมการความปลอดภัย”
2. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านความปลอดภัยในการดำเนินการสถานประกอบการ รวมถึงกิจกรรมโดยผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง ผู้วิจัย หรือบุคคลอื่น โดยไม่สามารถถ่ายโอนความรับผิดชอบนี้ได้ จัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรที่แสดงแผนภูมิการบังคับบัญชาและหน้าที่รับผิดชอบแต่ละตำแหน่งตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด คณะกรรมการความปลอดภัย ผู้จัดการหน่วยเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เจ้าหน้าที่ดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ และเจ้าหน้าที่ฟิสิกส์สุขภาพ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุขัดข้องที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยต้องแจ้งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทราบทันที รวมทั้งต้องจัดให้มีแผนป้องกันอัคคีภัย แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และ รังสี แผนการจัดการความเสื่อมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นต้น
3. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ให้เป็นไปตามขีดจำกัดและเงื่อนไขการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการ ทางนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์และเงื่อนไขในใบอนุญาต จัดทำขั้นตอนการเดินเครื่อง จัดให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเดินเครื่องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการเดินเครื่อง เป็นต้น
4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทราบถึงแผนและรายการซ่อมบำรุง การทดสอบตามระยะเวลาและการตรวจสอบสภาพเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่สำคัญ ต่อความปลอดภัยเป็นลายลักษณ์อักษรบนพื้นฐานของรายงานวิเคราะห์ความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์
5. กำหนดให้การจัดการแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยต้องมีการวิเคราะห์ความปลอดภัยด้วยวิธีการคำนวณที่เหมาะสม รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบว่าแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจวัดรังสีและวัสดุกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม
6. กำหนดให้กรณีการหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระยะยาว (extended shutdown) ซึ่งไม่รวมถึงการหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นระยะเวลานาน เพื่อวัตถุประสงค์ในการซ่อมบำรุงหรือการปรับปรุงแก้ไขเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดเตรียมแผนการหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยระยะยาวและการดำเนินการทางเทคนิคเพื่อรักษาสภาพให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์คงอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563