เรื่อง การปรับแนวทางประเมินส่วนราชการและองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอการปรับแนวทางประเมินส่วนราชการและองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ไปกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อแจ้งให้ส่วนราชการและองค์การมหาชนปฏิบัติต่อไป
1. สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ส่งผลให้การปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากหน่วยงานต้องทุ่มเททรัพยากรในการแก้ไขและป้องกันสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการลงทุน ด้านการส่งออก เป็นต้น
2. จากการประเมินเบื้องต้น สำนักงาน ก.พ.ร. คาดว่าจะมีส่วนราชการจำนวน 60 ส่วนราชการ จาก 152 ส่วนราชการ (คิดเป็นร้อยละ 39.47) จังหวัดจำนวน 70 จังหวัด จาก 76 จังหวัด (คิดเป็นร้อยละ 92.10) และองค์การมหาชน 27 หน่วยงาน จาก 34 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 79.41) มีตัวชี้วัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคฯ ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เนื่องจากหลายหน่วยงานมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหา เช่น กรมควบคุมโรคที่ดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินระดับประเทศเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น จึงต้องระดมสรรพกำลังทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินนี้ และอีกหลายหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและต้องทำหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควบคู่ไปกับการดำเนินภารกิจปกติ
3. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต (รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานสามารถบริหารงานและให้บริการประชาชนในภาวะวิกฤติของโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย (1) มาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนการให้บริการงานอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งเน้นให้หน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนการให้บริการมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีมาใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนแทนการเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง และ (2) มาตรการเพิ่มเติมอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 (ขณะนี้เรื่องดังกล่าวเสนออยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
4. เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติภารกิจภายใต้วิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาระของหน่วยงานในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัด รวมทั้งให้หน่วยงานสามารถระดมทรัพยากรเพื่อแก้ไขวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างทันการณ์ จึงเห็นควรให้มีการปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการและองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดแนวทางเพิ่มเติมขยายไปจากกรอบการประเมินของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561
4.1 ให้หน่วยงานสามารถปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดตามภารกิจปกติที่คาดว่าถูกกระทบจากวิกฤต โดยให้จัดเตรียมข้อมูลปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ไว้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับค่าเป้าหมาย ปรับน้ำหนักตัวชี้วัด ปรับรายละเอียดตัวชี้วัด หรือการยกเลิกตัวชี้วัด
4.2 ให้หน่วยงานสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในส่วนของการดำเนินการที่หน่วยงานได้ทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้รวบรวมผลการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การออกนโยบายหรือมาตรการ รวมทั้งการดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤตฯ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรี (ในข้อ 3) และนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัด โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะนำข้อมูลไปพิจารณาร่วมกับ ข้อ 4.1 ในการปรับตัวชี้วัดในภาพรวมของหน่วยงาน
4.3 ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 ให้หน่วยงานรวบรวมและจัดทำข้อมูลตามข้อ 4.1 และ 4.2 ส่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในเบื้องต้น และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาปรับตัวชี้วัดให้แก่หน่วยงานต่อไป
5. สำนักงาน ก.พ.ร. ตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังนั้นการกำหนดแนวทางปฏิบัติและวิธีการในรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้จึงมีหลักการว่าจะต้องไม่เป็นภาระแก่หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขวิกฤตดังกล่าวต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563