ขออนุมัติหลักการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี

ข่าวการเมือง Tuesday March 24, 2020 18:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี เป็นอาคาร สูง 11 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ความสูงของอาคารประมาณ 55 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,800 ตารางเมตร ซึ่งมีความสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นมิได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ข้อ 3 (1) โดยขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากคณะรัฐมนตรี และข้อ 3 วรรคสาม (1) ของกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550

2. รับทราบเรื่อง รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ. รายงานว่า

1. โรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาล ขนาด 1,200 เตียง นอกจากภารกิจด้านบริการรักษาในโรคทั่วไปเน้นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนแล้ว ยังมีภารกิจด้านวิชาการ คือ วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ตลอดจนเป็นแหล่งการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติของพทย์ทั้งในระดับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับต่าง ๆ ตลอดจนบุคลากรการแพทย์ สหวิชาชีพ โดยตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (ตึก EMS) ของโรงพยาบาลราชวิถีที่ใช้งานในปัจจุบันเป็นตึกที่อยู่ด้านหลังของอาคารอำนวยการทำให้ระยะทางจากจุดจอดส่งของผู้ป่วยฉุกเฉินจนถึงพื้นที่ของการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมดที่อยู่ในตึก EMS มีระยะทางไกลมาก ซึ่งกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ควรจะได้รับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉิน (resuscitation) ที่อยู่ใกล้กับจุดจอดรถสำหรับส่งผู้ป่วยที่รวดเร็ว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยให้มากที่สุด และเป็นมาตรฐานหนึ่งที่สำคัญของการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในปัจจุบัน เนื่องจากตึก EMS เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และได้ใช้ เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ พ.ศ. 2538 มาจนถึงปัจจุบัน และนอกจากนี้ สถิติผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลราชวิถีมีจำนวน 80,000 ราย/ปี ทำให้การให้บริการผู้ป่วยไม่สะดวกและแออัดเกินไป

2. สธ. ได้จัดทำโครงการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (หลังใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) เพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มอุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ทันสมัยและครบวงจร (2) ลดความแออัดของผู้รับบริการ เพิ่มความรวดเร็วในการรักษาหรือผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิ์เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมและทันท่วงที (3) พัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนแพทย์แก่ผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี และ (4) เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉินยุคใหม่ของประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หัวข้อ

ลักษณะการก่อสร้าง

สาระสำคัญ

ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สูง 11 ชั้น โดยมีชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น รวม 13 ชั้น ความสูงของอาคารประมาณ 55 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,800 ตารางเมตร และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 190 เตียง

สถานที่ก่อสร้าง

สาระสำคัญ

ภายในบริเวณโรงพยาบาลราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 42,200 ตารางเมตร ซึ่งสถานที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอยู่ภายในรัศมี 200 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญ

สธ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินดังกล่าวแล้ว และได้ส่งรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงไปยัง สผ. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ.

ระยะเวลาดำเนินการ

สาระสำคัญ

1,450 วัน/ปีงบประมาณ 2564-2567

งบประมาณ/แหล่งเงิน

สาระสำคัญ

สธ.ได้จัดส่งขอไปยังสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบลงทุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพาบาลราชวิถี จำนวนทั้งสิ้น 980,000,000 บาท

3. กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพื้นที่ที่จะก่อสร้างตั้งอยู่ภายในบริเวณที่มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นมิได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามบุคคลใดปลูกสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร ภายในรัศมี 200 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอาคารที่มีความสูงเกิน 24 เมตร ภายในรัศมีเกิน 200 เมตร แต่ไม่เกิน 300 เมตร จากจุดศูนย์กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรงพยาบาลราชวิถีก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว และหากอาคารที่ก่อสร้างดังกล่าวเป็นของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ผู้ดำเนินการต้องส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวน 2 ชุด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลราชวิถีมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้มีความสูงเกินกว่าที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครกำหนดก็สามารถขออนุญาตคณะรัฐมนตรีให้ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 และเนื่องจากอาคารที่จะก่อสร้างดังกล่าว เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ต้องมีถนนที่มีผิวการจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ที่ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก และปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมนคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 รวมทั้งกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ