ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ข่าวการเมือง Tuesday March 24, 2020 18:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 523,244,500 บาท ดังนี้

1. ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) ประมาณ 77,578 ตัว เป็นเงิน 381,772,500 บาท

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค/ซากสัตว์ ได้แก่ ค่าจ้างเหมาในการขนส่งและขุดหลุมฝังกลบทำลายซาก ค่าจ้างเหมาบริการช่วยงานสัตวแพทย์ และค่าวัสดุเวชภัณฑ์/วัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ เป็นเงิน 99,852,000 บาท โดยให้ถัวจ่ายกันได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

3. จัดซื้อครุภัณฑ์ รวม 4 รายการ เป็นเงิน 41,620,000 บาท ประกอบด้วย

3.1 เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 400,000 บาท เป็นเงิน 2,800,000 บาท

3.2 เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิชนิดเคลื่อนที่แบบอินฟราเรด (Thermal Imaging System) จำนวน 108 เครื่อง เครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงิน 4,320,000 บาท

3.3 รถขนซากสัตว์ติดเชื้อระบบปิด จำนวน 3 คัน คันละ 7,900,000 บาท เป็นเงิน 23,700,000 บาท

3.4 รถสามล้อพ่นยาฆ่าเชื้อ จำนวน 27 คัน คันละ 400,000 บาท เป็นเงิน 10,800,000 บาท

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 29 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลกซึ่งเป็นทวีปยุโรปจำนวน 12 ประเทศ ทวีปแอฟริกาจำนวน 6 ประเทศ และทวีปเอเชียจำนวน 11 ประเทศ โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกของทวีปเอเชียที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรค คือ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้นที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

2.1 การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง

2.2 ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน

2.3 การลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ติดตัวมากับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโรค รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร มีจำนวน 2,708 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 343 ตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563)

3. โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน และยาที่รักษาโรค และเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรค จนถึงขั้นหมดอาชีพ และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้เวลานาน จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี

4. ประเทศไทยประสบจากผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกของประเทศไทยในปี พ.ศ.2547 สามารถควบคุมและกำจัดโรคได้ในปี พ.ศ. 2551 จนเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์และ องค์ความรู้ในการป้องกันและกำจัดโรคที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนในการป้องกัน คือ การค้นพบโรคเร็ว การกำจัดโรคเร็ว โรคสงบเร็ว การตรวจวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ รวมไปถึงการทำลายสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นการป้องกันและกำจัดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคเอกชนโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ 8 จังหวัด 19 อำเภอ ในเกษตรกรรายย่อย 794 ราย จากเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด 6,169 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ทำลายสุกรจำนวน 12,841 ตัว จากจำนวนสุกรทั้งหมด 91,004 ตัว คิดเป็นร้อยละ 14.11 พบว่าสามารถป้องกันโรคได้ และทำให้ตั้งแต่มีการพบการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 และแพร่ระบาดมายังประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยยังคงปลอดโรคต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่ ในอัตราร้อยละ 15 ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยใช้วิธี Spatial Multi – criteria Decision Analysis พบว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง คือ จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรค ชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งหมด 27 จังหวัด 108 อำเภอ จำนวนเกษตรกร 43,230 ราย จำนวนสุกร 517,188 ตัว ดังนั้น การลดความเสี่ยงที่อัตราร้อยละ 15 คิดเป็นเกษตรกรประมาณ 6,485 ราย สุกรประมาณ 77,578 ตัว ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 381,772,500 บาท โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของราคาสัตว์หรือซากสัตว์ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ

5. การลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมีวิธีการทำลายซากสัตว์ต้องไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดิน แหล่งน้ำสาธารณะ น้ำใต้ดิน และไม่กระทบต่อพื้นที่ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร อีกทั้งต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือในการทำลายซากสัตว์ต้องสามารถเคลื่อนย้าย เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และต้องสามารถทำลายสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สัตว์ปีก สุนัข และแมว เป็นต้น เพื่อความคุ้มค่าในการควบคุมป้องกันโรคในภาคปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง เพื่อการค้นพบโรคเร็ว การกำจัดโรคเร็ว โรคสงบเร็ว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังโรคให้มีครอบคลุมในทุกพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณในการจ้างเหมาบริการช่วยงานด้านสัตวแพทย์สำหรับการเฝ้าระวังโรคดังกล่าว จำนวน 300 อัตรา ซึ่งยังไม่เพียงพอ รวมทั้งต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นอย่างรวดเร็วและแม่นยำในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

7. การทำลายเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงสัตว์ และบริเวณโดยรอบโรงฆ่าสัตว์ ยานพาหนะ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุกร จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติทำลายเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ จึงจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ