คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548-2561) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 – 2564) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม 3,670.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย
การก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ และระบบชลประทาน ดังนี้
1.1 เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันสามารถกักเก็บน้ำได้ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย
(1) เขื่อนหลัก (Main dam) ชนิดดินถมบดอัดแน่นแบ่งส่วนความยาว 500 เมตร ความสูง 43.50 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร
(2) ทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ (Saddle dam) ชนิดดินถมบดอัดแน่นเนื้อเดียว ความยาว 300 เมตร ความสูง 15.50 เมตร สันเขื่อนกว้าง 3 เมตร
(3) อาคารประกอบ ได้แก่ อาคารระบายน้ำล้น (Service apillway) อาคารรับน้ำ (Inclined intake) อาคารส่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำและอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม และถนนลาดยางเชื่อมระหว่างเขื่อนหลักกับทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ
1.2 ระบบชลประทานเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งสิ้น 90,200 ไร่ ประกอบด้วย
(1) ระบบชลประทานแจ้ห่ม ระยะที่ 1 พื้นที่ชลประทาน 12,000 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555
(2) ระบบชลประทานแจ้ห่ม ระยะที่ 2 พื้นที่ชลประทาน 8,000 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2558
(3) ระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 1 พื้นที่ชลประทาน 5,000 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2554
(4) ระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 2 พื้นที่ชลประทาน 18,000 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555
(5) ระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 3 พื้นที่ชลประทาน 47,200 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ
2. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 กุมภาพันธ์ 2555) อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 3 โครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง นั้น กรมชลประทานได้ว่าจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างระบบชลประทานดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 วงเงินสัญญา 197.64 ล้านบาท อายุสัญญา 900 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 18 ตุลาคม 2555 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 เมษายน 2558 ต่อมา กรมชลประทานได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรี (25 พฤศจิกายน 2556) เรื่อง การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 150 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ปัจจุบันมีผลงานสะสม ร้อยละ 42.36
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 3 โครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560
4. การก่อสร้างระบบชลประทานกิ่วลม 3 ระยะที่ 3 โครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากการดำเนินการมีปัญหาและอุปสรรค กล่าวคือ สภาพภูมิประเทศ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของราษฎรเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แบบก่อสร้างที่ออกแบบไว้เดิมไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ จึงมีความเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้างให้มีความสอดคล้องกับภูมิประเทศและมีความเหมาะสมกับทางด้านวิศวกรรม เพื่อให้การใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการและมีผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแก้ไขแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาจากการแก้ไขแบบและออกแบบเพิ่มเติม
5. การแก้ไขสัญญาส่งผลให้วงเงินในสัญญาเพิ่มขึ้น จากวงเงินในสัญญาเดิม 197.64 ล้านบาท เป็น 203.68 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 6.04 ล้านบาท ซึ่ง กษ. แจ้งว่า สงป. ได้เห็นชอบความเหมาะสมของราคาการเพิ่มวงเงินในสัญญาก่อสร้างรายการดังกล่าวแล้วตามหนังสือ สงป. ที่ นร. 0718/18328 ลงวันที่ 16 กันยายน 2562 โดยการเพิ่มวงเงินดังกล่าว อยู่ภายในวงเงินงบประมาณ แต่มีระยะเวลาก่อหนี้ผูกพัน ข้ามปีงบประมาณเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ กรมชลประทานจึงต้องนำเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อขออนุมัติการขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2561 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2563 ก่อนลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ตามนัยข้อ 7 (2) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
6. จากข้อเท็จจริงข้างต้น กษ. โดยกรมชลประทาน จึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินโครงการและขยายระยะเวลาโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ออกไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนั้น กษ. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548-2561) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548- 2564) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 3,670.50 ล้านบาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563