รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน: กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ข่าวการเมือง Tuesday April 7, 2020 19:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน : กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ห้วงวันที่ 31 มีนาคม-6 เมษายน 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน : กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ห้วงวันที่ 31 มีนาคม-6 เมษายน 2563 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

สาระสำคัญ

กระทรวงวัฒนธรรมขอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน : กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ห้วงวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2563 ดังนี้

1. จัดทำจดหมายเหตุ เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย : กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวมข้อมูล ข่าว และเหตุการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรค ทั้งในรูปข้อมูลเอกสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงได้วางแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานรับผิดชอบดำเนินการ และจะรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

2. ออกประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 1 เมษายน 2563 เข้มงวดให้มีการงด หรือเลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณี พิธีทางศาสนาที่เป็นการรวมคนหมู่มากออกไปก่อนตามมาตรการของรัฐบาล และกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องจัดงานได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อมวลชนต่าง ๆ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกาศดังกล่าวไปยังประชาชนทั่วประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

3. บูรณาการความร่วมมือกับชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่กระทรวงวัฒนธรรมใช้ขับเคลื่อนการทำงาน โดยส่งเสริมให้คนมีคุณธรรมตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และมีวิถีทางวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของแกนนำบวร (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) ในการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลตนเอง และบุคคลในชุมชนเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรค ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี มีน้ำใจ ช่วยเหลือ แบ่งปัน เอื้ออาทรกัน พึ่งพาอาศัยกัน อาทิ การแบ่งปันพืชผัก ผลไม้ อาหารการกิน หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจล โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563)

1) จัดทำองค์ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน 1,055 ครั้ง และออกอากาศรายการวิทยุทั้ง AM และ FM 296 ครั้ง รวม 1,351 ครั้ง รวมถึงได้มีการนำไปเผยแพร่ขยายผลผ่านช่องทางสื่อออนไลน์อีกด้วย

2) ผลิตสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ 84 ชิ้นงาน คลิปวีดิโอ 367 คลิป และอินโฟกราฟฟิค 522 ชิ้นงาน รวม 943 คลิป/ชิ้นงาน

3) สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า โดยแกนนำพลัง “บวร” ชุมชนคุณธรรมฯ ที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสาขับเคลื่อนด้วยพลัง“บวร” 3,163 ชุมชน ผลิตหน้ากากแบบผ้าแล้วเสร็จ จำนวน 6,678,178 ชิ้น (โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6,051,923 ชิ้น และชุมชนคุณธรรมฯ ผลิตเองเพื่อแจกจ่ายในชุมชน 626,255 ชิ้น) จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ จำนวน 5 ล้านชิ้น

4) สนับสนุนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาดตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ โดยดำเนินการไปแล้ว 40 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) 103 โรงทาน และนำมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ให้ทุกคนใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิและจุดบริการแอลกอฮอล์เจล เป็นต้น

5) สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่น ๆ ในทุกมิติเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในชุมชน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รับมอบหมายภารกิจจากผู้ว่าราชการจังหวัด 1,126 เรื่อง อาทิ การดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนฯ โดยอาศัยผู้นำชุมชนพลัง “บวร” เป็นสื่อกลางของชุมชน เป็นต้น

4. การรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่าง ๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เครือข่ายชุมชนคุณธรรม และผู้นำพลัง “บวร” ในชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร เรื่อง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน 2563 ผู้ตอบแบบสำรวจ 18,397 คน เพศชาย ร้อยละ 55.84 และเพศหญิง ร้อยละ 44.16 ครอบคลุมทุกอาชีพ และทุกภูมิภาค พบว่า 1) มีการรับรู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ร้อยละ 98.64 2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 81.15 รองลงมาคือ ระดับ ปานกลาง ร้อยละ 18.06 และระดับน้อย ร้อยละ 0.79 ตามลำดับ 3) มีการรับรู้ข้อมูลหรือแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธี ทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงวัฒนธรรม ร้อยละ 96.88 และเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารมีประโยชน์อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 84.10

5. การทำงานนอกที่ตั้งสำนักงาน และเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งการดำเนินงานในส่วนที่ให้บริการประชาชน กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้ ทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ปรับลดจำนวนบุคลากรในการปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้งสำนักงาน การเหลื่อมเวลาทำงาน การทำงานนอกที่ตั้งสำนักงาน (Work from Home) โดยมีการวางระบบการทำงาน การติดตามงาน และการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ช่องทางออนไลน์ ในการใช้บริการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในช่วงเวลาที่ได้มีการประกาศปิดแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว อาทิ บริการหนังสือออนไลน์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ บริการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง (Virtual Museum) และอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง (Virtual Historical Park) ทางเว็บไซต์ของกรมศิลปากร

6. แผนการที่กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการต่อไป

6.1 ระยะสั้น (ด้านการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19))

(1) เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตลอดจนให้นำพลัง “บวร” โดยชุมชนคุณธรรมฯ จำนวน 22,540 ชุมชน ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอและตำบล ศิลปินพื้นบ้าน รวมถึงเครือข่ายทางวัฒนธรรม ให้การสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัด

(2) เตรียมการปฏิบัติภารกิจงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน กรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี จำนวน 2,215 คน ประจำอยู่ในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

(3) ผลิตสื่อและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตสื่ออินโฟกราฟฟิก (Infographic) ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 50 ชิ้น และผลิตคลิปวีดิโอไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 20 คลิป โดยเผยแพร่ไปยังสื่อต่าง ๆ ทุกช่องทางรวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ด้วย

6.2 ระยะยาว (ด้านการฟื้นฟูเยียวยา และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19))

(1) จัดทำมาตรการเยียวยาเพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม อาทิ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

(2) จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสุข และกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในชุมชนต่าง ๆ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ