1. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยพิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. คค. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ร่วมกับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) (คณะพิเศษ) ตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) แล้วเห็นว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้เชื่อมต่อในระบบการขนส่งมวลชนในทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศได้โดยตรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมและระบบการชำระเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบการขนส่งมวลชนทางรางกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค จึงจะทำให้การควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างยากลำบาก หากยังไม่มีหรือการออกกฎหมายพระราชบัญญัติในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมล่าช้า ในระยะเริ่มแรกจึงเห็นสมควรจัดทำเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ขึ้นก่อน เพื่อให้มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้โดยเร็ว ซึ่งร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นเพียงมาตรการทางการบริหาร กำกับ ดูแลระบบตั๋วร่วม ใช้ได้เฉพาะกับผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ในอนาคตหากจะให้สามารถนำไปใช้กับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดจำเป็นต้องมีการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งจะสามารถใช้บังคับกับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้
2. ระบบตั๋วร่วมนี้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ของ คค. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชนโดยการจัดการระบบการขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าว คค. ได้จัดให้มีการศึกษาและจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ เช่น Common Ticket สามารถให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และมีการพัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรือระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐ โดยมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่จัดเส้นทางเดินรถที่ซ้ำซ้อน และศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ
3. คค. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จ พร้อมที่จะบูรณาการการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในทุกรูปแบบ โดยผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนอาจจะต้องมีการปรับปรุงระบบจัดเก็บรายได้ และระบบการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้งานในระบบตั๋วร่วมได้ สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและอยู่ในแผนของ คค. จะต้องดำเนินการจัดทำระบบตามมาตรฐานระบบตั๋วร่วมที่กำหนดไว้ แต่การที่จะดำเนินการให้เกิดการบูรณาการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งมวลชนได้นั้น ตัองได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนในการเข้าร่วมให้บริการระบบตั๋วร่วมและกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานและขอบเขตความร่วมมือการให้บริการระบบตั๋วร่วม รวมถึงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและสร้างเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วม โดยจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมอย่างชัดเจนทั้งในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและเพื่อให้มีการดำเนินการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมโดยเร็ว ทันต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการยกร่างระเบียบในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการทางการบริหาร กำกับ ดูแลระบบตั๋วร่วม โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมและหน่วยงานระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารงานระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
1. กำหนดให้มีการบริหารจัดการบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยระบบตั๋วร่วม
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและการใช้ตั๋วร่วม รวมทั้งเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมต่อคณะรัฐมนตรี และมอบหมายหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ คนต. มอบหมาย รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่ คนต. ได้มอบหมาย
3. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการดำเนินงานของผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและผู้ให้บริการภาคขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อ คนต. เสนอแนะนโยบายในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและมาตรฐานหรือมาตรการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แนวทางการเชื่อมต่อระบบและแผนพัฒนาระบบตั๋วร่วมต่อ คนต. รวบรวมข้อมูลอัตราค่าโดยสาร ศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบ และเสนอแนะกลไกหรือแนวทางการเจรจาตกลงในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม
4. กำหนดให้มีผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม บริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง รวมถึงกำกับดูแลให้การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมของผู้ออกและจำหน่ายตั๋วร่วมรายอื่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อบังคับของคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ ควบคุมดูแลผู้ให้บริการภาคขนส่งเพื่อให้การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีหน้าที่รายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เมื่อผู้ให้บริการภาคขนส่งไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน มาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดใด ๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือประกาศของ คนต. รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลในการใช้บริการระบบตั๋วร่วมหรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระบบขนส่งและนอกระบบภาคขนส่งและการจัดส่งข้อมูลการใช้ตั๋วร่วม การชำระเงิน และค่าใช้จ่ายอื่นใดให้แก่ธนาคารเพื่อการบริหารจัดการรายได้ พร้อมกับรวบรวมข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเพื่อรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและ คนต.
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 เมษายน 2563