คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
การดำเนินการตามมาตรการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. ประมาณการสูญเสียรายได้ โดยการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในปี 2562 ถึง 2564 ประมาณปีละ 450 ล้านบาท
2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ของปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดจำนวนปีละ 431,800 ตัน และเพิ่มทางเลือกของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ อันจะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ) มาเพื่อดำเนินการ
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 เมษายน 2563