เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (26 กันยายน 2560) ที่เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และให้รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 ธันวาคม 2561) รับทราบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถฯ ในระยะแรก และเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถฯ ในระยะต่อไป ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของการดำเนินโครงการได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
1.1 ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
1.1.1 ผลการดำเนินงาน
รายละเอียด - ระยะที่ 1 (ต.ค.60- ก.ย. 61)
ผู้ประกอบการ SMEs เข้ารับการอบรม 2,683 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสิทธิซื้อ FX Option 2,269 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ใช้สิทธิซื้อ FX Option 618 ราย
จำนวนสัญญา FX Option 1,569 สัญญา
มูลค่าสัญญา FX Option 55.03
ล้านเหรียญสหรัฐ
ค่า Premium 16.06 ล้านบาท
รายละเอียด - ระยะที่ 2 (พ.ย. 61-ธ.ค. 62)
ผู้ประกอบการ SMEs เข้ารับการอบรม1,630 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสิทธิซื้อ FX Option1,445 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ใช้สิทธิซื้อ FX Option565 ราย
จำนวนสัญญา FX Option2,356 สัญญา
มูลค่าสัญญา FX Option65.20
ล้านเหรียญสหรัฐ
ค่า Premium 22.05 ล้านบาท
รายละเอียด - รวม ระยะที่ 1 (ต.ค.60- ก.ย. 61) และ ระยะที่ 2 (พ.ย. 61-ธ.ค. 62)
ผู้ประกอบการ SMEs เข้ารับการอบรม4,313 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสิทธิซื้อ FX Option3,714 ราย
ผู้ประกอบการ SMEs ใช้สิทธิซื้อ FX Option1,183 ราย
จำนวนสัญญา FX Option3,925 สัญญา
มูลค่าสัญญา FX Option120.23
ล้านเหรียญสหรัฐ
ค่า Premium 38.11 ล้านบาท
หมายเหตุ :
1) FX Option หรือสัญญาสิทธิของเงินตราต่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขายสิทธิให้สิทธิแก่ผู้ซื้อสิทธิในการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ ณ เวลาในอนาคต ตามสกุลเงิน จำนวนเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ในสัญญา
2) ค่า Premium หมายถึง วงเงินสำหรับใช้เป็นค่าธรรมเนียม
1.1.2 ผลการใช้จ่ายงบประมาณ
กิจกรรม - จำนวนเงิน (ล้านบาท)
สนับสนุนเงินช่วยเหลืออุดหนุน สำหรับเป็นวงเงินค่าธรรมเนียม FX Option 34.48
สนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ SMEs 4.28
สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการ 1.83
รวม 40.59
1.2 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
1.2.1 ผู้ประกอบการบางส่วนไม่เห็นถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมูลค่าส่งออก – นำเข้ายังไม่มาก หรือใช้เงินตราสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมีพฤติกรรมการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
1.2.2 ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับบริการ FX Option แม้ผ่านการอบรมแล้ว
1.2.3 พนักงานสาขาของธนาคารบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ จึงไม่สามารถให้คำแนะนำลูกค้าได้
1.2.4 การประชาสัมพันธ์โครงการแบบเชิงรุกยังไม่ทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมาย
1.2.5 การอบรมด้วยระบบ e-Learning ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน -30 กันยายน 2562 มีผู้เข้าเรียนจำนวน 389 ราย จากเป้าหมาย 2,000 ราย
2. การดำเนินการในระยะต่อไป: โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 450 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินการโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEsฯ (ตามข้อ 1) ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประอบการ SMEs มากนัก ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้มีมติอนุมัติและเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามมาตรา 34 (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสุนน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติแผนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงฯ วงเงินงบประมาณ 225 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ระยะที่ 1 โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 225 ล้านบาท
2.2 ระยะที่ 2 หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยในเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 อุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (ค่าธรรมเนียม FX Option 80,000 บาท และค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ 20,000 บาท) แนวทางที่ 2 อุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (ค่าธรรมเนียม FX Option/เงินสนับสนุนสิทธิ Forward Contract 80,000 บาท และค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ 20,000 บาท)
ทั้งนี้ หากโครงการระยะที่ 1 ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs และสามารถดำเนินงานได้เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ หรือหากเห็นว่าสถานการณ์ค่าเงินมีความผันผวนสูงและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะร่วมกันพิจารณาขออนุมัติดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป
2.3 งบประมาณในการดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท เป็นการนำเงินที่เหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (26 กันยายน 2560) ที่เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศให้แก่ สสว. เพื่อดำเนินการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งมีผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงาน รวม 40,586,589.70 บาท มีเงินคงเหลือจำนวน 459,413,410.29 บาท โดยมีดอกผลที่เกิดขึ้นจำนวน 254,031.26 บาท ดังนั้น จึงมีเงินคงเหลือเข้ากองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 459,667,441.55 บาท [ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติให้ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ประกอบด้วย เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี]
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 เมษายน 2563