ร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565)

ข่าวการเมือง Wednesday April 15, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์หารมหาชน) เสนอ และให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) รับความเห็นและข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 โดยมีมติเห็นชอบและให้ สศส. รับความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น ควรมีแผนงาน/โครงการที่เป็น Quick win ในรูปแบบของ Service Center เพื่อช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควรเน้นการส่งเสริมเรื่อง Design Thinking ให้เข้าไปอยู่ในทุกระบบความคิดในองค์กรต่าง ๆ ควรให้มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ควรพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของภาคเอกชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญของร่างแผนดังกล่าวได้ ดังนี้

วิสัยทัศน์

ประเทศไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรมของโลก

เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย

แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรก มีระยะ 3 ปี โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการขยายตัวของสินค้าและบริการสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์จาก UNESCO 1 เมือง ส่วนช่วงที่ 2-4 มีระยะช่วงละ 5 ปี

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างและส่งเสริมการจัดการองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลยุทธ์ สร้างฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการต่อยอดเชิงธุรกิจ และเผยแพร่การใช้งานฐานข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

แนวทางในการดำเนินงาน รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่องค์ความรู้พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงฐานข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่สนใจเพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในเชิงพาณิชย์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับทักษะและความสามารถบุคลากรในธุรกิจสร้างสรรค์และกระตุ้นกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์

กลยุทธ์ พัฒนาและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้ง สร้างและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

แนวทางในการดำเนินงาน สร้างทรัพยากรมนุษย์และวางรากฐานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มทักษะฝีมือแรงงานโดยร่วมกับภาคการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

กลยุทธ์ เพิ่มความสามารถและทักษะในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนทางด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมด้านการตลาด ตลอดจนผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้นำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ยกระดับสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล

แนวทางในการดำเนินงาน

พัฒนาช่องทางการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และจัดทำมาตรการด้านการเงินและสิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แบรนด์ไทย ให้เกิดการรับรู้และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาเมืองและระบบนิเวศสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับแนวคิดเชิงสร้างสรรค์

กลยุทธ์

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์และการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการให้บริการของหน่วยานภาครัฐ

แนวทางในการดำเนินงาน

พัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกเพื่อเป็นแรงจูงใจในการย้ายถิ่นฐาน/พำนัก และสร้างการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเป็นเมืองและย่านสร้างสรรค์ของชุมชนและท้องถิ่น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ