คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ดศ. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีภารกิจในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรของประเทศในรูปของสำมะโนประชากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของประชากร (เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน) ตามที่อยู่จริงและที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย และวัดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและที่อยู่อาศัย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการ คาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต
2. การจัดทำสำมะโนประชากรดังกล่าวต้องดำเนินการทุกรอบ 10 ปี โดยได้ดำเนินการครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2503 และดำเนินการต่อมาทุกรอบ 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ขอให้ทุกประเทศในโลกจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะอย่างน้อยทุก 10 ปี แต่อย่างไรก็ดี นับแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปี พ.ศ. 2553 สสช. ได้จัดทำสำมะโนประชากรพร้อมกับการจัดทำสำมะโนเคหะด้วย โดยที่ในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีครบรอบ 10 ปี ที่ สสช. จะต้องดำเนินการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและสำมะโนเคหะ ประกอบกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้การจัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่าง ที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
3. ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 เมษายน 2562) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการสำมะโนประชากรและเคหะตามที่ ดศ. เสนอ และให้ ดศ. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนสำมะโนด้านข้อมูลประชากรผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ การพิจารณาเก็บรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากรฯ ควรคำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม อาทิ รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากร โดยเฉพาะในเขตเมือง การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลเพื่อให้การจัดทำ สำมะโนประชากรฯ ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดทำประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
4. ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่ของประชากร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารฯ ตลอดจนใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ดศ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เพื่อสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะดังกล่าว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “บ้าน” “ประชากร” และ “การทอดแบบ”
2. กำหนดให้กฎกระทรวงมีอายุ 10 ปี
3. กำหนดให้เขตท้องที่ที่จัดทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ ได้แก่ ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
4. กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือน ณ ที่อยู่อาศัยปกติที่พบในวันที่ทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่อาศัยของประชากรเพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต
5. กำหนดวิธีการให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ได้แก่ การสัมภาษณ์ หรือการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์หรือทางอินเทอร์เน็ต เว้นแต่กรณีไม่อาจให้ข้อมูลได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการทอดแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือด้วยวิธีการอื่นตามประกาศที่ออกตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2563