คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวน 2,910.39 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,803.78 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม 2,803.78 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 2,980.24 ล้านบาท
3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ให้ได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดเวลาการเอาประกันภัยของเกษตรกร ทั้งในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (Tier 1 และ Tier 2) พร้อมทั้งให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัย และร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมประกันฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของ การประกันภัย
4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และสมาคมประกันฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกรแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร (แบบ กษ 02 เพื่อการประกันภัย) ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย และรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
5. มอบหมายให้สมาคมประกันฯ พิจารณากำหนดรูปแบบการประเมินความเสียหาย แก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ร่วมกับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2563 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2563 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2560 และปีการผลิต 2561 โดย ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (15 ธันวาคม 2562) มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัยในการประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) 2.01 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 28.01 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ และคิดเป็นร้อยละ 50.04 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ นอกจากนี้มีเกษตรกรเอาประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็น การประกันภัยภาคสมัครใจ จำนวน 2.43 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งส่วนที่ 1 (Tier 1) และส่วนที่ 2 (Tier 2) คิดเป็นจำนวน 2,593.14 ล้านบาท
2. เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และเพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างทั่วถึง รวมทั้งได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาการปลูกข้าวนาปีทั้งฤดูการผลิตเพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับจำนวนเงินทุนของเกษตรกรที่มีไม่เพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูกในปีการผลิตถัดไป กค. จึงได้ดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ดังนี้ 2.1 กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กษ. สำนักงาน คปภ. ธ.ก.ส. และสมาคมประกันฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ดังนี้ (1) กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไปได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) (การใช้ข้อมูลจากสถิติในอดีตเพื่อคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิตที่ผ่าน ๆ มา (2) ปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) ให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลสถิติอัตราส่วนความเสียหาย (Damage Ratio) ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ และอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio)1 ของการรับประกันภัย โดยแบ่งอัตราเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) เป็น 4 อัตรา ได้แก่ เบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอัตราเดียวทั่วประเทศ และเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรทั่วไปจำนวน 3 อัตรา แตกต่างกันตามระดับพื้นที่ความเสี่ยงภัยในระดับอำเภอ (3) เพิ่มเป้าหมายสำหรับการเอาประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) ให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ต่ำ (พื้นที่ในอำเภอที่มีอัตราส่วนความเสียหายเฉลี่ยย้อนหลัง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2554 – 2562 ไม่เกินร้อยละ 4) จำนวน 594 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 15.7 ล้านไร่ (4) คงรูปแบบการรับประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยโดยสามารถขอเอาประกันภัยเพื่อรับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากส่วนที่ภาครัฐให้การอุดหนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย
2.2 กค. ได้นำโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เสนอ นบข. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 โดยสามารถสรุปรายละเอียดของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ได้ ดังนี้
หัวข้อ - รายละเอียด
1. วัตถุประสงค์
เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัยและเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
2. พื้นที่รับประกันภัย (รวม Tier 1 และ Tier 2 ไม่เกิน 45.7 ล้านไร่) และอัตราค่าเบี้ยประกันภัย
การประกันภัยการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1)
พื้นที่รับประกันภัย
พื้นที่รวมไม่เกิน 44.7 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) แบ่งเป็น
1) พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 28 ล้านไร่
อัตราค่าเบี้ยประกันภัย
97 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ (ความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) (ประกันภัยกลุ่ม)
2) พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ ไม่เกิน 15.7 ล้านไร่
อัตราค่าเบี้ยประกันภัย
58 บาทต่อไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)
3) พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง ไม่เกิน 1 ล้านไร่
อัตราค่าเบี้ยประกันภัย
- พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง / 210 บาทต่อไร่
- พื้นที่เสี่ยงภัยสูง / 230 บาทต่อไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)
รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกรายในอัตรา 58 บาทต่อไร่ จำนวนรวม 44.7 ล้านไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด (ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัย และค่าอากรแสตมป์เท่ากับ 1 บาท ของค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท)
ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 39 บาทต่อไร่ เฉพาะกลุ่มที่ (1) จำนวน 28 ล้านไร่
การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier 2) เกษตรกรจ่ายเองทั้งหมด
พื้นที่รับประกันภัย
พื้นที่ไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ซึ่งจ่ายเพิ่มจาก Tier 1 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) แบ่งเป็น
ไม่เกิน 1 ล้านไร่
(1) พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 26.75 บาทต่อไร่
(2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 52.43 บาทต่อไร่
(3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 109.14 บาทต่อไร่
หมายเหตุ : พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 594 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 182 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 152 อำเภอ
3. ระยะเวลาการจำหน่ายกรมธรรม์
รายละเอียด
กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ตามภาค โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 13 จังหวัด) กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563
- กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 7 จังหวัด) กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
- กลุ่มที่ 3 ภาคตะวันตก กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563
- กลุ่มที่ 4 ภาคใต้ กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4. วงเงินความคุ้มครอง
พื้นที่ - ภัยธรรมชาติ 7 ภัย(น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า)
Tier 1 / 1,260 บาทต่อไร่
Tier 2 / 240 บาทต่อไร่
รวม ไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่
พื้นที่ - ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
Tier 1 / 630 บาทต่อไร่
Tier 2 / 120 บาทต่อไร่
รวม 750 บาทต่อไร่
5. ภาระงบประมาณ(เงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย)
ภายในวงเงิน 2,910.39 ล้านบาท (พื้นที่เป้าหมาย 44.7 ล้านไร่) โดยแบ่งเป็น
1) ใช้จ่ายจากงบประมาณคงเหลือจากการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท
2) ให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล จำนวน 2,803.78 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไป
6. การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน
จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประกาศภัยตามที่ราชการกำหนด โดยการดำเนินการของสมาคมประกันฯ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7. วันเริ่มความคุ้มครอง
(1) กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อทั้งหมดในการเพาะปลูกในส่วนที่ 1 (Tier 1) และเกษตรกรทั่วไปซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) กำหนดวันเริ่มความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หากเกษตรกรดังกล่าวประสงค์จะเอาประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) จะกำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย
(2) กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อบางส่วน และ มีความประสงค์จะเอาประกันภัยเพิ่มเติม กำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย
(3) กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อซึ่งอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง (พื้นที่สีเหลืองและพื้นที่สีแดง) โดยภาครัฐรับภาระอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วน และเกษตรกรรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยเอง ทั้งในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (Tier 1 และ Tier 2) กำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย
1 อัตราส่วนระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2563