โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563

ข่าวการเมือง Tuesday April 21, 2020 19:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 10,236.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

1. ค่าใช้จ่ายโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากแหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยแยกหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี ดังนี้

1.1 การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกรายที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย วงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยกำหนดการช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 85 บาท รายละเอียดไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย

1.2 การช่วยเหลือตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย และกำหนดเงินช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 93 บาท

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 236.50 ล้านบาท ได้แก่ (1) การชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 ต่อปี เป็นเงิน 235 ล้านบาท และ (2) ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวน 300,000 ราย เป็นเงิน 1.50 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1. อก. ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต (ฤดูการผลิตปี 2561/2562) (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ตุลาคม 2561) เป็นเงิน 6,497.09 ล้านบาท ปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 129.94 ล้านตัน ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ได้รับ การช่วยเหลือ จำนวน 195,567 ราย

2. ความคืบหน้าโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ให้สินเชื่อกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 581 ราย เป็นเงิน 2,289.46 ล้านบาท คงเหลือวงเงินให้กู้ประมาณ 3,710.54 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 6,000 ล้านบาท

3. เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต โดยจะเห็นได้จากการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เป็นอย่างมาก และต่ำกว่าทุนการผลิตที่ประเมินโดยคณะกรรมการอ้อยที่ 1,100 บาทต่อตันอ้อย ประกอบกับสภาวะความแห้งแล้งในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ลดลง จากที่คณะกรรมการอ้อยประเมินไว้ 9.61 ตันต่อไร่ คาดว่าจะลดลงเหลือ 6 – 8 ตันต่อไร่ ส่งผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ปีการผลิตราคาอ้อย

2557/2558

900 บาทต่อตัน

2558/2559

808 บาทต่อตัน

2559/2560

1,050 บาทต่อตัน

2560/2561

880 บาทต่อตัน

2561/2562

820 บาทต่อตัน

(ราคาอ้อยขั้นต้น 700 บาท + เงินช่วยเหลือ

เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาท + เงินช่วยเหลือของระบบ 70 บาท)

2562/2563

750 บาทต่อตัน

4. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการหารือมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่ได้รับทราบมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดให้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน และเห็นชอบการขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่อ้อยมีความเห็นร่วมกันว่ามาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรเป็นมาตรการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติในส่วนของ การชดเชยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ อก. เสนอมา รวมทั้งการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และสถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำจะเป็นภาระในการจัดหาแรงงานตัดอ้อยเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ ปรับเป้าหมายของฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากอัตราการรับอ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน เป็นรับ อ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อวัน และให้มีการทบทวนมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เมื่อสิ้นสุดฤดูการผลิตแล้วทุกปี ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติเห็นชอบตามความเห็นของผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่อ้อยดังกล่าว ทั้งนี้ ในปัจจุบันเห็นได้ว่ามีการเผาอ้อยเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลปริมาณอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ที่เข้าหีบ มีดังนี้

4.1 ฤดูการผลิตปี 2561/2562 (ฤดูการผลิตที่ผ่านมา) มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 130.97 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 50.94 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 38.89) อ้อยไฟไหม้ 80.03 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 61.11)

4.2 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 (ฤดูการผลิตปัจจุบัน) ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 74.55 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 37.43 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 50.21) อ้อยไฟไหม้ 37.12 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 49.79)

5. อก. โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ประเมินปริมาณอ้อย ฤดูการผลิต ปี 2562/2563 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75 ล้านตัน พื้นที่ปลูก 11.50 ล้านไร่ และผลผลิตเฉลี่ย 6 – 8 ตันต่อไร่ จำนวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าหีบกับโรงงานจำนวน 305,640 ราย

6. เนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยอันเนื่องมาจากผลกระทบราคาที่ตกต่ำและ ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต และปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองจากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อก. จึงได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว รวมทั้งสนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน

7. โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีรายละเอียด ดังนี้

7.1 วัตถุประสงค์

7.1.1 เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO)

7.1.2 เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ใน การวิเคราะห์และกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคตได้

7.2 แนวทางการดำเนินงาน

7.2.1 จ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อนำไปจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและ น้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย

7.2.2 แบ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี ดังนี้

(1) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยกำหนดการช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย เพื่อนำไปใช้จัดหาปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาของตนเองได้

(2) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ซึ่งหากคิดจากปริมาณอ้อยสดที่คาดว่าเข้าหีบร้อยละ 50 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละ ไม่เกิน 93 บาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และยังเป็นการตอบสนองนโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้

7.2.3 การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของแต่ละโรงงานโดยตรง โดยที่โรงงานจะต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาทั้งคู่สัญญาที่เป็นชาวไร่อ้อยทั่วไป และคู่สัญญาที่เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยพร้อมจำนวนตันอ้อยที่ส่ง สำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่าง ๆ นั้น จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อย รายย่อยที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อย เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อย รายย่อยดังกล่าวโดยตรง

7.2.4 กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือ หลังปิดหีบฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพียงครั้งเดียว (คาดว่าจะจ่ายเงินในระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2563)

7.3 ค่าใช้จ่าย รวม 10,236.50 ล้านบาท ดังนี้

7.3.1 ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ แยกหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี คือ (1) การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท และ (2) การช่วยเหลือตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด วงเงิน 3,500 ล้านบาท

7.3.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 236.50 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ค่าชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 ต่อปี เป็นเงิน 235 ล้านบาท

(2) ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวนประมาณ 300,000 ราย เป็นเงิน 1.50 ล้านบาท

7.4 แหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย

แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณชดเชยภาระทางการเงินให้แก่ ธ.ก.ส. ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามมาตรา 20 (5) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อมิให้ ธ.ก.ส. เกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหารจัดการตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการจนกว่าจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น

8. อก. แจ้งว่าการขอรับเงินอุดหนุนโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัย การผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากงบประมาณแผ่นดิน จะไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนการลงทุน และการอุดหนุนปัจจัยการผลิตในฐานะที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ให้เป็น การทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ หรือผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ โดยการอุดหนุนปัจจัยการผลิตที่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐไม่ถูกนับรวมเป็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าที่ไทยได้ผูกพันไว้ (Aggregated Measurement of Support - AMS) รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าขั้นต่ำที่ไทยในฐานะสมาชิก WTO ยังคงสามารถให้ได้ (De Minimis)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ