ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต

ข่าวการเมือง Tuesday April 21, 2020 20:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้สัมปทานสิทธิในการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty free) และสิทธิในการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นการประมูลที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนแก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีข้อสังเกตในหลายประเด็นจากทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนบางกลุ่มเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการประมูลดังกล่าว ของ ทอท. ว่ามีความเหมาะสม คุ้มค่า และโปร่งใสหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้มีการกำหนดมาตรการหรือข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของ ทอท. ในข้างต้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ โดยพิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่อคณะรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

1. ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1.1 รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมือง

1.2 ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรในเมืองและนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรับสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน

1.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้เหมาะสมเช่นเดียวกับร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยาน โดยอาจพิจารณาให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บส่วนแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าว

2. ข้อเสนอต่อ ทอท. ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม (ทอท.) ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้

ข้อเสนอต่อ ทอท.

ข้อเสนอระยะสั้น

  • ทอท. และบริษัทคู่สัญญาต้องดำเนินการติดตั้งและใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบจากระบบรับรู้รายได้ (Point of Sale : POS)
  • ทอท. ควรกำหนดแนวทางหรือกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินงานตามเงื่อนไจต่าง ๆ ที่กำหนดในสัญญา
  • ทอท. ควรมีกระบวนการในการตรวจสอบการใช้พื้นที่ ตลอดจนราคาสินค้า ราคาอาหาร เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอระยะยาว

  • ทอท. ควรศึกษารูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานแก่เอกชน เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร โดยต้องมีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียให้ครอบคลุมในทุกด้าน
  • ทอท. ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประมูลและสาธารณชนควรรับทราบ
  • ทอท. ควรทบทวน และปรับปรุงการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโดยพิจารณาปรับสัดส่วน/น้ำหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ผลตอบแทนที่รัฐควรได้รับให้มากขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลมีความโปร่งใสเท่าเทียมกัน และเกิดประโยชน์สูงสุด
  • ทอท. ควรพิจารณาปรับปรุงแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานโดย ทอท. ควรเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เอง
  • ในการพิจารณาจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าควรกำหนดให้ดำเนินการโดยแยกต่างหากจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ผู้โดยสาร ทั้งนี้ อาจพิจารณาแนวทางให้ ทอท. ดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเปิดโดกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการผูกขาด และสามารถสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มมากขึ้น
  • ควรพิจารณาทบทวนกำหนดค่าตอบแทนหรือส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐพึงได้รับจากการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้มีความเหมาะสม
  • ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานหรือการตรวจสอบต่าง ๆ

ความเห็นของ ทอท.

ข้อเสนอระยะสั้น

ทอท. ไม่ขัดข้อง โดยปัจจุบันท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. บางส่วนได้ดำเนินการติดตั้งระบบรับรู้รายได้ และเชื่อมต่อส่งข้อมูลให้ ทอท. สามารถตรวจสอบได้ทุกวัน สำหรับแนวทางหรือกระบวนการในการตรวจสอบ การดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดในสัญญานั้น ปัจจุบันมีกระบวนการตรวจสอบ โดยหน่วยงานของ ทอท. และสำนักตรวจสอบ ทอท. ทั้งนี้ ทอท. จะรับข้อเสนอแนะในส่วนอื่น ๆ มาปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอระยะยาว

ทอท. ไม่ขัดข้อง โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ ทอท. ได้นำไปใช้ในโครงการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ผ่านมาแล้ว ข้อเสนอระยะยาวที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เช่น การปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือกหรือให้ ทอท. พัฒนาแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง ทอท. จะพิจารณานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นแนวดำเนินการต่อไป สำหรับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า (Pick up counter) แยกต่างหากจากสัญญาบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาดนั้น ทอท. ได้พิจารณาดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มดำเนินการที่ท่าอากาศยานภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 และท่าอากาศยานดอนเมืองจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ ข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับการพิจารณาจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าหรือ Pick up counter ควรกำหนดให้ดำเนินการโดยแยกต่างหากจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาด และเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร นั้น กระทรวงคมนาคม โดย ทอท. ได้ดำเนินการแยกสัญญา สำหรับสัญญาที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการประมูลหาผู้ประกอบการในส่วนสัญญาจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 มกราคม 2563) เห็นชอบแนวทางการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ