คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามหลักการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานศาลปกครองไปประกอบการพิจารณาด้วย
1. การเพิ่มบทบัญญัติใหม่และยกเลิกบทบัญญัติเดิมในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539
1.1 เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองรูปแบบอื่น นอกจากคำสั่งทางปกครองเฉพาะราย เช่น กฎ คำสั่งทางปกครองทั่วไป สัญญาทางปกครอง เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ชัดเจน
1.2 เพิ่มหลักกฎหมายใหม่เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น หลักโมฆะกรรมของคำสั่งทางปกครอง หลักการจำกัดผลกระทบของความบกพร่องในวิธีพิจารณาและรูปแบบคำสั่งทางปกครอง และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตหรืออนุมัติโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น
1.3 เพิ่มหลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง เช่น การยื่นอุทธรณ์โดยวิธีการส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าการอุทธรณ์มีผลในวันที่ส่งหนังสืออุทธรณ์ตามหลักฐานทางไปรษณีย์หรือหลักฐานที่มีการยื่นอุทธรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
1.4 เพิ่มบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยื่นคำขอ การยื่นอุทธรณ์ การแจ้งคำสั่งทางปกครอง
1.5 ยกเลิกบทบัญญัติที่พ้นสมัย เช่น มาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
2. การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้มีความชัดเจน ครบถ้วน หรือมีหลักการที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
2.1 แก้ไขเพิ่มเติมกรณีคำสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีซึ่งจะต้องมีการรับฟังคู่กรณีนั้น ให้หมายความรวมถึงคำสั่งทางปกครองที่ปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิแก่บุคคลด้วย
2.2 กำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องรับฟังคู่กรณีตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งให้หมายความเฉพาะการพ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่นเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งเป็นการถาวรซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
2.3 แก้ไขเพิ่มเติมบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ทำการพิจารณาทางปกครอง โดยกำหนดให้รวมถึงกรณีลุง ป้า น้า อา ด้วย
2.4 ขยายระยะเวลาในการเยียวยาความบกพร่องในวิธีพิจารณา หรือรูปแบบคำสั่งทางปกครองออกไป โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถเยียวยาความบกพร่องได้จนกว่าจะสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563