คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 17 มีนาคม 2563 ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้ อก. ยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และเพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการโรงงานจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อก. จึงเห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (8) การเพาะเชื้อเห็ด กล้วยไม้ หรือถั่วงอก เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน และไม่จัดอยู่ในจำพวกที่ 1 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ (1) การฆ่าสัตว์ โรงงานทุกขนาด ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับโรงงานทุกขนาด ทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น อก. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ประกอบกับมาตรา 43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ในกรณีของค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอันเกิดจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุดังกล่าวได้
2. อก. ได้จัดทำรายงานตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
2.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ซึ่งได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นเวลา 1 ปี จะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 231,120,600 บาท
หมายเหตุ เฉพาะโรงงานที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สถานะแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานแล้ว ซึ่งมีเครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้า ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คน ขั้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมโรงงานในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม
2.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงาน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป
ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่พ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563