คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วาระเพื่อทราบ
1.1 ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2580 (National Space Master Plan 2020-2037)
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่27 กรกฎาคม 2560 มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 หรือ ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 และส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา โดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) มีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้ 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวิจัยและพัฒนาอวกาศ ให้ความสำคัญกับแนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และมีการจัดทำแนวทางการพัฒนากำลังคน 2) การกำหนดตัวชี้วัด ให้ทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 3) กลไกการขับเคลื่อน กำหนดให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการ ภายใต้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน
มติที่ประชุม
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฯ ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฯ ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
1.2 ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ....
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ฉบับแก้ไขโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งขาติ โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวคือ มีการจัดตั้ง 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทด้านการจัดทำนโยบาย ด้านกิจการอวกาศของประเทศ และสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
มติที่ประชุม
รับทราบการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. .... และให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ และเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
1.3 การดำเนินการเรื่อง สำนักงานประสานงานภูมิภาคของ The United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) ในประเทศไทย (Regional Liaison Office : RLO)
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานประสานงานภูมิภาคของ UNOOSA ในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อคิดเห็นในการจัดตั้ง RLO 2 ประเด็น ดังนี้ 1) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีความกังวลในเรื่องความยั่งยืนของ RLO ภายหลังจาก 3 ปีแรก (ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณ เต็มจำนวน 3 ปีแรก) ซึ่ง UNOOSA ปฏิเสธที่จะจัดทำแผนความยั่งยืนภายหลัง 3 ปี 2) การให้มีหน่วยงานเพื่อรับเงินงบประมาณ ตามกระบวนการของการรับงบประมาณ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รับเป็นหน่วยงานในการรับงบประมาณเพื่อการดำเนินการของ RLO ไปพลางก่อน
มติที่ประชุม รับทราบและให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
1.4 ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ของนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Rights)
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 มีนาคม 2562) เห็นชอบในหลักการร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ และให้ ดศ. รับข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดย ดศ. ได้เชิญผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นแนวทางการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ
มติที่ประชุม รับทราบการดำเนินการต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ของนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Rights) ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป
1.5 ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ
คณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 โดยมีสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เช่น ขอบเขตบังคับใช้คุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต รูปแบบการอนุญาต เงื่อนไขด้านความมั่นคง
มติที่ประชุม รับทราบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และ วิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563
1.6 แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
ดศ. ได้ลงนามจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ที่ปรึกษาโครงการ) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 270 วัน (สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2563) ปัจจุบันที่ปรึกษาโครงการ ได้เสนอทางเลือก เป็น 4 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่ ดศ. ดำเนินงานเอง 2) กรณีที่ ดศ.มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงาน 3) กรณีที่ให้เอกชนรายเดิมดำเนินงาน และ 4) กรณีเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการ ซึ่งที่ปรึกษาโครงการเสนอแนะให้ ดศ. ดำเนินการในรูปแบบการให้บริการภาครัฐสู่ภาครัฐ (G2G) โดยพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดศ. [บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)] เข้ามาบริหารจัดการดาวเทียมทั้ง 3 ดวงที่มีอายุเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญาฯ (ดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
มติที่ประชุม รับทราบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ โดยเปรียบเทียบประโยชน์ (รายได้) ของแต่ละทางเลือกในการบริหารจัดการดาวเทียม และเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป
1.7 กรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ผู้แทน ดศ. ได้เข้าร่วมการประชุมหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในประเด็นข้อสัญญาฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุป ดังนี้ 1) คู่สัญญามีหน้าที่จะต้องจัดสร้างดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อกำหนดของสัญญาฯ ในกรณีที่ไม่สามารถซ่อมแซมดาวเทียมได้ 2) ดศ. ควรเร่งตรวจสอบเงื่อนไขการรับเงิน ค่าสินไหมทดแทนตามกรธรรม์ประกันภัยของดาวเทียมไทยคม 5 3) เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือถึง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดส่งแผนการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ โดยให้ ดศ. พิจารณาโดยด่วน และ 4) เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือหารือ สคก. อีกชั้นหนึ่งเมื่อได้ข้อสรุปการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
มติที่ประชุม รับทราบกรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5 ทั้งนี้ ดศ. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ 1) คณะทำงานพิจารณาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานกรณีดาวเทียมไทยคม 5 2) คณะทำงานตรวจสอบทางเทคนิคกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563
2. วาระเพื่อพิจารณา
การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและ บริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (Space Situational Awareness and Space Traffic Management)
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ โดยมีรองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการอวกาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1) จัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศของประเทศ ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้ง กฎ ระเบียบ งบประมาณ บุคลากรและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) จัดทำข้อเสนอแนะในการกำหนดหน่วยงานเพื่อดำเนินการติดตาม เฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศได้อย่างต่อเนื่องและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ 3) แต่งตั้งคณะทำงานหรือชุดปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนภารกิจตามอำนาจหน้าที่และ 4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติมอบหมาย
มติที่ประชุม เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่ ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563