รายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 19:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบร่วมกับภาคีเครือข่าย

สาระสำคัญ

พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประเมินสภาพปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือ 68 ครอบครัว ซึ่งสรุปปัญหาและความต้องการ ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ มีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในภาวะว่างงานและไม่มีอาชีพ 17 ราย ไม่มีทุนประกอบอาชีพ 6 ราย และมีภาระหนี้สิน 6 ราย เป็นเงิน 3,284,000 บาท โดยเป็นหนี้ของสถาบันการเงิน
  • ด้านสุขภาพ มีผู้ได้รับผลกระทบรักษาตัวในโรงพยาบาล 4 ราย (โรงพยาบาลตำรวจ 1 ราย และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 3 ราย) ซึ่งเป็นผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นผู้พิการ
  • ด้านจิตใจ มีผู้ได้รับผลกระทบมีปัญหาด้านจิตใจ 25 ราย เช่น มีอาการเครียด มีภาวะซึมเศร้า มีอาการหวาดระแวง จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจ โดย พม. ได้ประสานจิตแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว มีผู้ได้รับผลกระทบที่มีอาการดีขึ้น ซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 22 ราย ทั้งนี้ มีการติดตามฟื้นฟูทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องและประสานส่งต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน เพื่อติดตามผลต่อไป
  • ด้านที่อยู่อาศัย มีผู้ได้รับผลกระทบ 12 ราย โดยไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง 6 ราย และ มีสภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มั่นคง และมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผู้พิการและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยและจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม 6 ราย
  • ด้านการศึกษา มีสมาชิกครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่ขาดแคลนเงินเพื่อใช้จ่ายในการศึกษา 27 ราย
  • ด้านงานยุติธรรม มีผู้ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือด้านคดีความ 3 ราย และเรียกร้องสิทธิ 7 ราย
  • ด้านครอบครัวและสังคม จากเหตุการณ์ฯ มีสตรีหม้าย 5 ราย บุรุษหม้าย 1 ราย และเด็กกำพร้า 6 ราย โดยจำแนกเป็น กลุ่มเด็กปฐมวัย 0-6 ปี 1 ราย วัย 7-12 ปี 2 ราย อายุ 13-15 ปี 2 ราย และ 15 ปี ขึ้นไป 1 ราย นอกจากนี้ มีเด็กที่ต้องได้รับการฟื้นฟูจิตใจและเตรียมความพร้อม เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับญาติพี่น้องหรือครอบครัวใหม่ 1 ราย

2. การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และครอบครัว

สาระสำคัญ

  • การช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ได้แก่ เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน 23 ราย รายละ 1,000 บาท เป็นเงิน 23,000 บาท และเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต (ทั้งภายในจังหวัดนครราชสีมาและต่างจังหวัด) 27 ราย รายละ 10,000 บาท เป็นเงิน 270,000 บาท กรณีผู้บาดเจ็บ (ทั้งภายในจังหวัดนครราชสีมาและต่างจังหวัด) 68 ราย รายละ 5,000 บาท เป็นเงิน 340,000 บาท
  • การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา ขอรับการสนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ 8 ราย เป็นเงิน 22,500 บาท
  • การช่วยเหลือเป็นสิ่งของ ได้แก่ สิ่งของจำเป็นและเครื่องอุปโภคบริโภค การมอบ พวงหรีดในนาม พม. ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 27 ราย และการมอบกระเช้าในนาม พม. ในการเยี่ยมให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ 32 ราย
  • การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ได้แก่ การซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 6 ราย และการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย 6 ราย
  • การประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 31 กองพันทหารราบ มณฑลทหารที่ 21 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา ธนาคารออมสิน สาขาหัวทะเล ธนาคารกรุงไทย สาขานครราชสีมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานจัดหางาน จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ