สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้ง 2 ข้อตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอ ดังนี้

1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน

2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ศปถ. ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อคณะกรรมการ ศปถ. อย่างต่อเนื่อง และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนรับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563 (รวม 7 วัน) และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและขับเคลื่อนการดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนตามมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 สรุปได้ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบสถิติต่าง ๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2563 (รวม 7 วัน) และปี 2562

รายการ ปี 2562

จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ (ครั้ง) 3,791

จำนวนผู้บาดเจ็บ (ราย) 3,892

จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) 463

รายการ ปี 2563

จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ (ครั้ง) 3,421

จำนวนผู้บาดเจ็บ (ราย) 3,499

จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) 373

รายการ ผลเปรียบเทียบปี 2563 กับปี 2562

จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ (ครั้ง) ลดลง ร้อยละ 7.91 (370 ครั้ง)

จำนวนผู้บาดเจ็บ (ราย) ลดลง ร้อยละ 10.09 (393 ราย)

จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) ลดลง ร้อยละ 19.43 (90 ราย)

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ เช่น

รายการ / สถิติ

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.68 รองลงมา คือ การขับรถเร็ว /เกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 29.00

สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด / ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 42.90 รองลงมา คือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 28.86

ประเภทยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด / รถจักรยานยนต์ (อุบัติเหตุ ร้อยละ 79.97 และ เสียชีวิต ร้อยละ 76.94)

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ดำเนินการจัดประชุมถอดบทเรียนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนและกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องดำเนินการโดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการสำคัญ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

มาตรการ

1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

(1) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและกำหนดเป้าหมายในการตรวจจับและดำเนินคดีกลุ่มเสี่ยงหลักให้ชัดเจน และ

(2) กำหนดแนวทางปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในการตรวจวัด แอลกอฮอล์ผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตทุกรายให้เป็นรูปธรรม

หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก

2. การสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก และส่งเสริมให้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษา และการปรับวิธีการหรือหลักสูตรในการอบรมขอรับใบอนุญาตขับขี่

หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

3. การลดปัจจัยเสี่ยงทางถนนและสภาพแวดล้อม

(1) ตรวจสอบ วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อกำหนดมาตรการ หรือดำเนินการแก้ไขปัญหาในบริเวณที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดความปลอดภัย

(2) กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีการชนท้ายรถบรรทุกขณะขับหรือขณะจอดบนไหล่ทาง การติดสติกเกอร์สะท้อนแสงที่มีมาตรฐาน และ

(3) จัดทำคู่มือมาตรฐานงานก่อสร้างทาง โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม

หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก

กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4. ด้านบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล

(1) ผลักดันให้การสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และการแก้ปัญหาการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

(2) จัดทำแนวทางการใช้งบประมาณท้องถิ่นเพื่อความปลอดภัยทางถนน

(3) พัฒนากลไกลการจัดการทั้งด้านบุคลากร ด้านข้อมูล ด้านการสอบสวนและวิเคราะห์สาเหตุกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีผู้เสียชีวิตให้มีประสิทธิภาพ และ

(4) กำหนดแนวทางในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้เป็นรูปธรรมและเกิดความต่อเนื่อง

หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตรวจแห่งชาติ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ