แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570)

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้

1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. ให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฯ เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) เพื่อวางกรอบแนวทางการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยการจัดทำแผนดังกล่าวได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำความเห็นมาปรับปรุงเพิ่มเติมในแผนปฏิบัติการฯ และนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศพิจารณาเห็นชอบแล้ว รวมทั้งนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยแผนปฏิบัติการฯ มีรายละเอียด ดังนี้

วิสัยทัศน์ : ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย :

1. สินค้า Commodity เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มปศุสัตว์ ประมง กลุ่มผักผลไม้ กลุ่มเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน/เกษตรอินทรีย์/เครื่องดื่มสุขภาพ (Healthy drinks) รวมถึงสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ทันสมัย/ บรรจุภัณฑ์ฉลาด รวมถึงอาหารที่ยกระดับด้วยการคัดแยกเกรด

2. สินค้าอนาคต Future Food เช่น อาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน (Healthy and Functional Food) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น

มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการ 4 มาตรการ :

มาตรการ

1) มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warrios) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้และทักษะเพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ (Healthy Foods) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food)

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงอุตสาหกรรม

งบประมาณ (ล้านบาท) 2,100.02

มาตรการ

2) มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

งบประมาณ (ล้านบาท) 3,839.94

มาตรการ

3) มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) เป็นมาตรการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก โดยการเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิต การค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับ การท่องเที่ยว

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงพาณิชย์

งบประมาณ (ล้านบาท) 350.00

มาตรการ

4) มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ในการพัฒนาประเทศ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงอุตสาหกรรม

งบประมาณ (ล้านบาท) 382.00

งบประมาณ : ประจำปี (ปี 2563 – 2566) ภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 6,671.96 ล้านบาท

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :

1) ภาพรวมของประเทศ

  • ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนใน ปี 2570
  • ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก

2) เศรษฐกิจของประเทศ

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อาหารของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท
  • รายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี
  • เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ 0.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี

กลไกการดำเนินการ : ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนโดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) * ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ

หมายเหตุ :* เป็นคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ