ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กนช. และข้อสั่งการประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563

สาระสำคัญของเรื่อง

กนช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. เรื่องเพื่อทราบ 4 เรื่อง

1.1 รับทราบผลการประชุมของคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. ทั้ง 5 คณะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ

1.2 รับทราบความก้าวหน้าแผนงานโครงการที่เสนอในคณะรัฐมนตรี และงานนโยบายที่นายกรัฐมนตรีตรวจพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562-7 มกราคม 2563 จำนวนทั้งสิ้น 27,969 โครงการ วงเงิน 32,392.95 ล้านบาท

1.3 รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยให้เพิ่มเติมปลัดจังหวัด ในคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดดังกล่าว

1.4 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครั้งที่ 1/2563 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. เรื่องเพื่อพิจารณา 3 เรื่อง

2.1 แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กนช. ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ 2 เรื่อง ดังนี้

(1) แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ จำนวน 715 พื้นที่ชุมชน และได้ดำเนินการแล้ว 166 พื้นที่ชุมชน คงเหลือที่ต้องดำเนินการอีก 549 พื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (Area Based) ของ สทนช. โดยพิจารณาตามความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะ (พ.ศ.)/ พื้นที่ชุมชน (ชุมชน/ไร่)

ระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) / 52 ชุมชน (260,000 ไร่)

ระยะกลาง (ปี 2566-2570) / 157 ชุมชน (360,000 ไร่)

ระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) / 340 ชุมชน(9.13 ล้านไร่)

ระยะ (พ.ศ.)/ ประมาณการวงเงิน (ล้านบาท)

ระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) / 17,675

ระยะกลาง (ปี 2566-2570) / 43,128

ระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) / -

ระยะ (พ.ศ.) / ผู้ได้รับผลประโยชน์

ระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) / 320,000 ครัวเรือน (980,000 คน)

ระยะกลาง (ปี 2566-2570) / 720,000 ครัวเรือน (2.17 ล้านคน)

ระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) / 5.48 ล้านครัวเรือน (12.26 ล้านคน)

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการแผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกรมโยธาธิการและผังเมือง และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปพิจารณดำเนินการ

(2) โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ

โครงการ / วงเงิน (ล้านบาท)

(1) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเดิมบางนางบวช / 253.14

(2) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาด่านช้าง / 202.47

(3) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ. สาขานครศรีธรรมราช (อบต.ท่าเรือ) / 42.96

(4) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ. สาขานครศรีธรรมราช (ทต. การะเกด) / 33.05

(5) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก / 1,567.86

(6) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม / 9,351.79

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 475,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 126,750 ราย (ประมาณ 305,625 คน)

มติที่ประชุม

(1) เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของ กปภ. (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 11,451.56 ล้านบาท

(2) เห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนา ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) 3 แห่ง วงเงินรวม 346.40 ล้านบาท

(3) ให้ กปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ

ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช. ให้ กปภ. เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้สำหรับการผลิตน้ำประปาทุกแห่ง

2.2 โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ กนช. ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ 2 เรื่อง ดังนี้

(1) โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของ กปภ. (เพิ่มเติม) วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก วงเงิน 1,567.86 ล้านบาท และ 2) โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม วงเงิน 9,351.79 ล้านบาท เมื่อทั้ง 2 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 456,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 114,300 ราย (ประมาณ 273,367 คน)

มติที่ประชุม

(1) เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 10,919.66 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก วงเงินรวม 1,567.86 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม วงเงินรวม 9,351.79 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโครงการต่อไป

(2) เห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนาขนาดใหญ่ ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) วงเงินรวม 244.36 ล้านบาท

(3) ให้ กปภ. นำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และ โครงการสำคัญไปพิจารณาดำเนินการ

(2) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 และสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สามารถเพิ่มแหล่งเก็บน้ำต้นทุนได้ 19.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10,000 ไร่ และในพื้นที่ EEC จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ปีละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในการเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าตะเกียบ

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน วงเงินรวม 1,880 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไป

2.3 การเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำกลอง มาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ป้องกันน้ำเค็มรุกตัว) อีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูแล้งปี 2562/2563 โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีความเห็นดังนี้

(1) เห็นชอบในหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพิ่มจากแผนการจัดสรรน้ำเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้เสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

(2) ให้ สทนช. นำความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการลุ่มน้ำไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

(3) ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการประปานครหลวง (กปน.) บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ และเฝ้าระวัง มิให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำ

(4) ให้ กปน. พิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงน้ำคลองประปาเต็มศักยภาพคลอง

มติที่ประชุม

(1) เห็นชอบในหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพิ่มจากแผนการจัดสรรน้ำเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร

(2) ให้กรมชลประทาน กฟผ. กปน. และ สทนช. นำความเห็นของคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง และ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการ

ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช.

(1) ให้ สทนช. จัดทำแผนระยะยาวรองรับสถานการณ์น้ำแล้ง และแก้ไขปัญหาที่ทำให้น้ำในแม่น้ำและน้ำประปากร่อยด้วย

(2) การผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแต่ละแหล่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ด้วย และให้ กปภ. ที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพิจารณานำความเห็นของ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3. เรื่องอื่น ๆ 1 เรื่อง

แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืช ฤดูฝนปี 2563 คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบแผนการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 265,000 ไร่ โดยใช้น้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร และแผนการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานทุกลุ่มน้ำ ได้แก่ 1) ลุ่มน้ำที่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ ทั้งหมด 12 ลุ่มน้ำ 2) ลุ่มน้ำที่ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ ทั้งหมด 8 ลุ่มน้ำ และ 3) ลุ่มน้ำที่ส่งนอกภาคการเกษตร ทั้งหมด 3 ลุ่มน้ำ

มติที่ประชุม

(1) เห็นชอบแผนการส่งน้ำฤดูฝน ปี 2563 ของทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 265,000 ไร่ โดยใช้น้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร

(2) เห็นชอบในหลักการแผนการส่งน้ำฤดูฝนในพื้นที่ชลประทานทุกลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1) ลุ่มน้ำที่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 12 ลุ่มน้ำ 2) ลุ่มน้ำที่ไม่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 8 ลุ่มน้ำ (ใช้น้ำฝน) และ 3) ลุ่มน้ำที่ส่งน้ำนอกภาคการเกษตร จำนวน 3 ลุ่มน้ำ

ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช.

(1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

(2) หากสภาพอากาศพร้อม ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ทันทีและตลอดเวลา

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ