ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชกำหนดฯ ประกอบด้วย

1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 16 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 240,000 ล้านบาท (โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 170,000 ล้านบาท)

2. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท (โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท)

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ จำนวนไม่เกิน 16 ล้านคน วงเงินโครงการรวมไม่เกิน 240,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมจำนวนไม่เกิน 70,000 ล้านบาทและเงินกู้ตามพระราชกำหนด จำนวน 170,000 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563

กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย

ประชาชนสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 16 ล้านคน ประกอบด้วยผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิ 4 กลุ่มย่อย ดังนี้

1) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย

2) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40

3) สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

4) ผู้ได้รับผลกระทบที่มีรายชื่อปรากฏในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก (หากผู้ได้รับผลกระทบได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ แล้วจะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ได้อีก) และผู้ได้รับผลกระทบที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนักเรียน / นักศึกษา แต่เป็นนักเรียน / นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก

ผลที่คาดว่าจะได้รับ โครงการฯ สามารถช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่สถานประกอบการหยุดประกอบกิจการหรือมีรายได้ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีตัวชี้วัดคือผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ได้รับเงินชดเชยรายได้ จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน

2. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย (1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย และ (2) เกษตรกรเป้าหมาย กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายการจ่ายช่วยเหลือในรอบที่ 1 รวม 8.43 ล้านราย ได้แก่ เพาะปลูกพืช ประมาณ 6.19 ล้านราย ปศุสัตว์ ประมาณ 1.60 ล้านราย ทำประมง ประมาณ 0.64 ล้านราย และกลุ่มเป้าหมายการจ่ายช่วยเหลือในรอบที่ 2 ประมาณ 1.57 ล้านราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย (ไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน) ได้รับเงินจ่ายตรงรวม 15,000 บาท/ราย และมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤติ และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจจะตามมา

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ