ผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2563

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 20:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควัด -19) ครั้งที่ 3/2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 3/2563 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินการ

1. ประชุมพิจารณาแล้วเห็นควรนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีความเป็นเอกภาพ และสามารถดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที รวมทั้งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เห็นควรให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกด้วย

2. เห็นควรคงมาตรการที่จำเป็นเมื่อมีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ภาครัฐสามารถรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนี้

2.1 ให้ควบคุมการเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สำหรับการเข้าราชอาณาจักรทางอากาศให้ขยายระยะเวลาการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน

2.2 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน หรือ Curfew ในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา

2.3 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น

2.4 ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน

3. สำหรับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายหลังการขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวคิดเพื่อผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้น และเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และ ด้านความมั่นคง ดังนี้

3.1 ให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณามาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 กำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดมาตรฐานกลางของประเทศและมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับ 1) สภาพปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่ 2) ความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และ 3) การได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่

3.2 กำหนดแนวคิดการดำเนินการให้คำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่น ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม และให้คงแนวทางการทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50

3.3 สำหรับวิธีดำเนินการให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นลำดับแรก และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวด อาทิ 1) การเว้นระยะห่างทางสังคม 2) การวัดอุณหภูมิ 3) การมีจุดบริการแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ/เจลล้างมือ และ 4) การจำกัดจำนวนคนในกิจกรรมให้เหมาะสมต่อกิจกรรมและสถานที่ นอกจากนี้ยังต้องจัดเจ้าหน้าที่และ/หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

3.4 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการดำเนินการมาตรการผ่อนปรนจะต้องเร่งรัดให้มีการค้าหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มสาขาอาชีพบริการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมควบคู่กันไป เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกด้วย

4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังได้ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรายละเอียดในการผ่อนปรนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และจะดำเนินการเมื่อมีความพร้อมภายหลังดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงของสถานประกอบการและพื้นที่ตามระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นจริงและมีการกำหนดมาตรฐาน/คู่มือให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเปิดกิจการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการกำหนดแอปพลิเคชัน (Application) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนในการใช้บริการและเอื้อประโยชน์ด้านการรักษามาตรฐานสาธารณสุขอีกด้วย

5. ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อพัฒนากรอบแนวทางการผ่อนปรนการกำหนดมาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

5.1 ให้ดำเนินการในกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นลำดับแรกและมีการดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ ทั้งนี้กิจกรรมและพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนปรนจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5.2 ให้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนตามห้วงระยะเวลา โดยกำหนดให้ดำเนินการเป็น 4 ระยะ ตามวงรอบของการประเมินผลสัมฤทธิ์ในทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน

5.3 ให้คงมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) ในระยะ 2 เมตร ต่อไปอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะต่อกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานต่างด้าว ผู้ทำงานในภาคบริการ ผู้บริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) และผู้ขนส่งสาธารณะ

5.4 ให้มีเทคโนโลยีเพื่อติดตามกิจกรรมของผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนโดยการใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) และจัดทำแอปพลิเคชันติดตามที่ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

5.5 ให้จัดทำคู่มือให้สถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนถือปฏิบัติอย่างชัดเจน และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติภายหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงควรกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายในภาวะปกติเป็นหลักในคู่มือดังกล่าว

5.6 ปรับแนวทางการประชาสัมพันธ์ในห้วงระยะต่อไปให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างความเชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเยียวยาผลกระทบของประชาชน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ