เรื่อง ร่างปฏิญญาทางการเมือง COVID-19 ของการประชุมสุดยอดกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ COVID-19 (Online Summit Level Meeting of the NAM Contract Group in response to COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับรองการร่างปฏิญญาทางการเมือง COVID-19 (Political Declaration of NAM on COVID-19) ของการประชุมสุดยอดเฉพาะกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยวิธีออนไลน์ เพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
1. ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งสินค้า โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบ โดยตระหนักว่าประเทศกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้มากที่สุด และต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู นอกจากนี้ มาตรการการให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการอย่างทั่วถึง ไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีการใช้มาตรการบังคับฝ่ายเดียวด้านการเงินและการค้า ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สนับสนุนการดำเนินงานของเลขาธิการสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัยด้านการแพทย์ และความร่วมมือจากนานาประเทศในการพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจากทุกประเทศต่อไป
3. การจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงาน NAM (NAM Task Force) โดยมีภารกิจในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบการดำเนินการตามร่างปฏิญญาฯ ฉบับนี้ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกที่ปฏิบัติได้จริง และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่น ๆ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาปรับถ้อยคำ และเมื่อประเทศสมาชิกสามารถตกลงกันจนได้ร่างสุดท้าย จะเสนอให้ที่ประชุมฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 รับรองต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563